Digital Economy

ราชกิจจาฯ ประกาศ พ.ร.บ. อิเล็กทรอนิกส์ 65 ยื่นเอกสารให้หน่วยงานรัฐ ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

ราชกิจจาฯ ประกาศ พ.ร.บ. อิเล็กทรอนิกส์ 65 อำนวยความสะดวกประชาชน ยื่นเอกสารให้หน่วยงานรัฐ ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 65 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศเผยแพร่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งจะเป็นกฎหมายกลางว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์

ส่งเสริมให้การทำงาน การให้บริการของภาครัฐ สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักได้ สนับสนุนการไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตามการปฏิรูปประเทศด้านการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ให้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อบริการสาธารณะและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

พ.ร.บ. อิเล็กทรอนิกส์

ประชาชนยื่นเอกสาร โดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ จะใช้บังคับแก่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย ที่ไม่ใช่หน่วยงานในฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่หากจะใช้บังคับกับหน่วยงานดังกล่าว จะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และจะใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่มาตรา 12 มาตรา 15 วรรคสอง มาตรา 19 และมาตรา 22 ที่ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ตั้งแต่ 13 ต.ค. 65เป็นต้นไป)

กฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้หน่วยงานรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับ ต้องมีช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการติดต่อสื่อสาร ทั้งระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน, ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐและ ผู้ประกอบการกับหน่วยงานรัฐ กำหนดวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งมาตรฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับภาครัฐเพื่อให้เชื่อมโยงข้อมูลและสามารถบริการประชาชนได้โดยสะดวกและปลอดภัย

พ.ร.บ. อิเล็กทรอนิกส์

โดยสาระสำคัญจะอยู่ใน มาตรา 7  ที่กำหนดให้การใดๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชน หรือผู้ประกอบธุรกิจต้องยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ โดยต้องยื่นเอกสารหลักฐานหรือสำเนาเอกสารประกอบคำขออนุญาต

ผู้ขออนุญาต สามารถเลือกยื่นเอกสารโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และให้ถือว่าเป็นการยื่นเอกสารโดยชอบแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง จะปฏิเสธไม่รับคำขอดังกล่าว เพราะเหตุการยื่นขออนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้

พ.ร.บ. อิเล็กทรอนิกส์

เร่งแก้ไขกฎระเบียบ ให้สอดคล้อง พ.ร.บ. อิเล็กทรอนิกส์

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับบทบัญญัติที่เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 65 เป็นต้นไป เนื่องจากจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวมถึงให้หน่วยงานเกี่ยวข้องได้เริ่มดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อรองรับการเริ่มมีผลบังคับ เช่น มาตรา 12  กำหนดให้เมื่อประชาชนติดต่อหน่วยงานเพื่อขอรับอนุญาตได้นำเอกสารตัวจริงมาแสดงแล้ว ให้หน่วยงานรัฐมีหน้าที่เป็นผู้ทำสำเนาเองโดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ

มาตรา 15 วรรคสอง กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐด้วยกัน หรือระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว

มาตรา 19  กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงมาตรฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร ที่หน่วยงานรัฐจะต้องใช้และปฏิบัติให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน และเสนอต่อ ครม. ใน 240 วัน และระหว่างที่ ครม. ยังไม่ได้กำหนดวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ ให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามมาตรฐานอื่นๆ ที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายไปพลางก่อน

สำหรับมาตรา 22 เป็นบทบังคับเพื่อให้ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการเพื่อให้ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้สำเร็จ โดยให้ ครม. กำหนดให้มีหน่วยงานทำหน้าที่ติดตาม เร่งรัด การดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ พร้อมรายงานให้ ครม. ทราบทุก 60 วันว่าหน่วยงานใดยังไม่ดำเนินการ พร้อมทั้งประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย  และทำหน้าที่แจ้งให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยทราบในทุก 15 วัน ถึงหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามตลอดจนระยะเวลาที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้

อ่านขาวเพิ่มเติม

Avatar photo