Digital Economy

ไพรซ์ซ่าชี้ถึงเวลาบุก ‘อินโดนีเซีย’

priceza
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Priceza

ปัจจุบัน นอกจากตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยจะได้รับความสนใจจากแพลตฟอร์มจากต่างประเทศอย่างสูงแล้ว อีกหนึ่งประเทศที่ได้รับความสนใจมากไม่แพ้กัน หรืออาจจะมากกว่าก็คือ “อินโดนีเซีย” โดยปัจจัยที่ทำให้อินโดนีเซียเป็นที่จับตาด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาจากจำนวนประชากรที่มีมากถึง 260 ล้านคน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อินโดนีเซียน่าสนใจตามการเปิดเผยของ ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Priceza ก็คือ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ชนชั้นกลางมีโอกาสเติบโตที่สูงมาก ซึ่งการเติบโตของชนชั้นกลางนี้ ทำให้โอกาสโตของตลาดอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

“การเติบโตของอินโดนีเซียเป็นไปในทิศทางเดียวกับไทย นั่นคือ ประชากรส่วนใหญ่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือที่เรียกว่า Mobile-First และคนกลุ่มนี้ที่เป็นชาวมิลเลนเนียลก็เป็นคนที่ต้องการสินค้าและบริการคุณภาพดีไม่ต่างจากไทย แต่ด้วยการกระจายตัวของประชากรที่แตกต่างจากไทย (ชาวอินโดนีเซียจำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ) ทำให้การเข้าถึงสินค้าและบริการทำได้ยาก อินโดนีเซียจึงเป็นประเทศที่เหมาะมากสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ”

ทั้งนี้ ธนาวัฒน์ ยังได้เผยด้วยว่า ธุรกิจค้าปลีกในอินโดนีเซียนั้นมีผู้เล่นไม่มากนัก โดยมีแค่คาร์ฟูร์ ที่เป็นแบรนด์จากตะวันตก ส่วนที่เหลือเป็นห้างค้าปลีกท้องถิ่นทั้งสิ้น และกระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ ไม่ค่อยพบได้ตามเกาะต่าง ๆ เนื่องจากปัจจัยด้านโลจิสติกส์

3 เทรนด์สินค้าฮอต

ข้อมูลจากไพรส์ซ่า ระบุว่า กลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสามอันดับแรกในอินโดนีเซียบนอีคอมเมิร์ซก็ไม่ต่างจากไทยนัก นั่นคือสินค้าแฟชั่น รองลงมาคือสินค้าไอที-อิเล็กทรอนิกส์ และสามคือยานยนต์เช่น รถจักรยานยนต์ และอุปกรณ์ประดับยนต์ แต่สิ่งที่เป็นโอกาสมากไปกว่านั้นคือแพลตฟอร์มสำหรับตรวจสอบราคาสินค้า ที่ ธนาวัฒน์ มองว่า นี่คือโอกาสการเติบโตของไพรส์ซ่านอกประเทศไทยที่สำคัญอย่างมาก

“ปัจจุบันเรามีธุรกิจอยู่ใน 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลยเซีย และเวียดนาม จากที่ผมได้ไปสัมผัสประเทศอินโดนีเซีย หนึ่งคือ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่รถติดมาก ไม่แพ้กรุงเทพฯ สองคือเมืองหลวงอย่างกรุงจาการ์ตายังไม่มีรถไฟฟ้าใช้ การคมนาคมไม่สะดวกมากพอที่คนจะออกมาช้อปปิ้งกันบ่อย ๆ และสาม ขนาดรถมอเตอร์ไซค์ คนอินโดนีเซียยังซื้อผ่านอินเทอร์เน็ต นั่นแสดงว่า ธุรกิจของเรามีโอกาสสูงมากที่จะได้รับการตอบรับจากชาวอินโดนีเซีย เนื่องจากเราเป็นเสิร์ชเอนจินที่สามารถช่วยเขาเปรียบเทียบราคาได้”

การบุกอินโดนีเซียของไพรซ์ซ่าจะทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นตลาดใหญ่อันดับสองรองจากไทยของบริษัท ซึ่งตัวเลขของปี 2560 ไพรส์ซ่ามีผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ 12 ล้านครั้งต่อเดือน โตขึ้นจากปี 2559 ถึง 50% (ปี 2559 มีคนเข้า 8 ล้านครั้ง) ส่วนในอินโดนีเซีย บริษัทมีผู้เข้าเว็บไซต์อยู่ที่ 2 ล้านรายต่อเดือน ตั้งเป้าปีนี้โต 100% เป็น 4 ล้านรายต่อเดือน

“มีการคาดการณ์กันว่า ปี 2568 มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่า 88,000 ล้านดอลล่าร์ โดยตลาดอินโดนีเซียจะมีมูลค่าเกินครึ่ง หรือมากกว่า 44,000 ล้านดอลล่าร์ของตลาดทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยซึ่งตามมาเป็นอันดับสองนั้นคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดที่ 11,000 ล้านดอลล่าร์ ดังนั้นธุรกิจที่ครองสองตลาดนี้ได้ก็เท่ากับครองส่วนแบ่งเกินครึ่งในภูมิภาคนี้แล้วนั่นเอง” ธนาวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

Avatar photo