Digital Economy

เฟซบุ๊กสรุปยอดข้อมูลรั่ว 87 ล้านราย พร้อมปรับ API เจ้าปัญหา

facebook-data-scraped

จากกรณีเฟซบุ๊กมีการปล่อยให้ข้อมูลของผู้ใช้งานรั่วไหล และอาจถูกนำไปทำแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งกว่า 50 ล้านรายการตามการรายงานของสื่อตะวันตกนั้น ล่าสุดทางเฟซบุ๊กได้ออกมาประกาศตัวเลขของข้อมูลดังกล่าวแล้วว่ามีทั้งสิ้น 87 ล้านรายการ และส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน ด้าน CTO ของบริษัทระบุว่าได้มีการปรับ API บางตัวแล้วเพื่อป้องกันการรั่วไหลในอนาคต 

โดยจากรายงานของเฟซบุ๊กระบุว่าประเทศที่มีข้อมูลรั่วไหลมากที่สุด 5 อันดับแรก หนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา (70 ล้านคน) รองลงมาคือฟิลิปปินส์ (1.17 ล้านคน) อินโดนีเซีย (1.1 ล้านคน) อังกฤษ (1.08 ล้านคน) เม็กซิโก (789,880 คน)

facebook-scraped-data

อย่างไรก็ดี ไมค์ ชโรเฟอร์ (Mike Schroepfer) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีของเฟซบุ๊กได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทมีแผนจะปรับ API หลาย ๆ ส่วนเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานให้มากกว่านี้ ยกตัวอย่างเช่น Event API ที่ก่อนหน้านี้เมื่อมีการจัดอีเวนท์บนเฟซบุ๊ก ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถเข้าถึงข้อมูลของอีเวนท์ที่ตนเองจัดหรือเข้าร่วมได้ แต่หลังจากวันนี้เป็นต้นไป จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของแขกในงานได้แล้ว และในอนาคต เฉพาะแอปพลิเคชันที่ผ่านการตรวจสอบแล้วเท่านั้นที่จะสามารถใช้ Event API ได้

หรือกรณีของ Group API ที่เคยเป็นต้นเหตุให้เคมบริดจ์ อะนาไลติกา สามารถนำข้อมูลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กออกไปได้นั้น ก็จะถูกจำกัดการเข้าถึง เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตจากเฟซบุ๊กเท่านั้นจึงจะสามารถใช้งานได้เช่นกัน มากไปกว่านั้น การใช้เฟซบุ๊กเสิร์ชหาเพื่อนฝูง หรือคนรู้จักในอดีตก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะมีกรณีของการทดลองป้อนเบอร์โทรศัพท์แบบสุ่ม เพื่อให้เฟซบุ๊กค้นหาให้ว่าเป็นใคร และนำไปสู่การรั่วไหลของข้อมูลได้นั้น ล่าสุด เฟซบุ๊กได้ปิดฟีเจอร์นี้แล้วเรียบร้อย

ทั้งนี้ เฉพาะแค่สามฟีเจอร์ที่กล่าวมาข้างต้นก็หนักหนาพอที่ผู้ไม่ประสงค์ดีจะใช้ในการเข้าถึงข้อมูลใด ๆ ของผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กที่มีมากกว่า 2 พันล้านคนตลอดเวลาที่ผ่านมาในอดีตได้แล้ว ซึ่งชโรเฟอร์ให้เหตุผลว่า บางฟีเจอร์ที่กล่าวมานั้น เป็นประโยชน์มากทีเดียวสำหรับผู้ใช้งานในประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงไป

อย่างไรก็ดี ความพยายามของเฟซบุ๊กในการสร้างความปลอดภัยของแพลตฟอร์มให้มากขึ้นยังไม่เป็นที่พอใจของนักลงทุน โดยเริ่มมีนักลงทุนจำนวนหนึ่งออกมาเรียกร้องให้มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ถอนตัวออกจากตำแหน่งประธานของเฟซบุ๊กแล้ว เพราะนับตั้งแต่ข่าวข้อมูลรั่วไหลนี้เกิดขึ้นจนถึงตอนนี้ มูลค่าตลาดของเฟซบุ๊กนั้นได้รับผลกระทบอย่างแรง นับเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 86,000 ล้านดอลล่าร์ในขณะนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาดังกล่าวยังทำให้เฟซบุ๊กต้องเลื่อนแผนเปิดตัวลำโพงอัจฉริยะของบริษัทที่คาดว่าจะใช้ชื่อ “พอร์ทัล” (Portal) จากเดิมที่มีกำหนดการเปิดตัวในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ในงานสัมมนา F8 ออกไปแล้วเช่นกัน

ส่วนสาเหตุที่มีการเลื่อนเปิดตัวออกไปนั้น เป็นไปได้ว่ามาจากจุดขายของอุปกรณ์ที่แตกต่างจากของคู่แข่งอื่น ๆ นั่นคือ จะมาพร้อมเลนส์ไวด์และเทคโนโลยีจดจำใบหน้า ซึ่งเชื่อมต่อเข้ากับโปรไฟล์ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่กำลังเป็นประเด็นอื้อฉาวอยู่นั่นเอง

เรียบเรียงจาก

BusinessInsider

Facebook Newsroom

New York Times

 

Avatar photo