Digital Economy

แค่สวยไม่พอ!! สนามบินยุคใหม่ต้องไฮเทค – รู้อินไซต์นักเดินทาง

SINGAPORE AVIATION AIRPORT
การเช็คอินด้วยไบโอเมทริกซ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สนามบิน” คือหนึ่งในสถานที่สร้างความประทับใจแรกให้เกิดขึ้นกับอาคันตุกะของชาติ ยิ่งในวันที่มีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย การนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทาง ย่อมหมายถึงเสียงชื่นชมที่จะตามมาอีกหลายคำรบ

วันนี้เราจึงขอชวนท่านผู้อ่านไปติดตามกันว่า แนวคิดเรื่องการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในสนามบินของแต่ละชาตินั้น พัฒนาไปสู่จุดใดกันบ้างแล้ว เริ่มต้นจาก

สนามบินนานาชาติปักกิ่งแห่งใหม่

Beijing-mega-airport

แผนการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่สองของกรุงปักกิ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 โดยในขณะนั้น สนามบินนานาชาติของกรุงปักกิ่งที่มีอยู่เดิมไม่สามารถรองรับความต้องการในการบินที่มีเพิ่มขึ้นอย่างมากได้ จึงนำไปสู่การสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ขึ้นที่เมืองต้าซิง  ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่ง ด้วยมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 393,600 ล้านบาท

พร้อมตั้งเป้าว่าจะใช้พื้นที่แห่งนี้รองรับผู้โดยสารมากกว่า 130 ล้านคน และสินค้า 5.5 ล้านตันต่อปี และได้ “ซาฮา ฮาดิด” สถาปนิกระดับโลกเป็นผู้ออกแบบ โดยมีกำหนดเปิดให้บริการ ในเดือนกันยายน 2562

ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์กันว่า สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นสนามบินที่พลุกพล่านที่สุดในโลก แทนอันดับหนึ่งอย่างสนามบินฮาร์ทฟิลด์-แจ็คสัน หรือที่อาจเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่าสนามบินแอตแลนตา ในรัฐจอร์เจีย ของสหรัฐด้วย

ในความพยายามที่จะรองรับนักเดินทางจำนวนมาก จีนจึงจัดเต็มเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยให้กับสนามบินดังกล่าว รวมถึง การติดตั้งกล้องวงจรปิดที่มีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ควบคุมอยู่เบื้องหลัง

หนึ่งในจุดที่จะใช้กล้องไฮเทคดังกล่าวคือ ช่วงของการตรวจคนเข้าเมือง ที่จีนมองว่าจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองได้มากขึ้น

นอกจากนั้น ยังสามารถใช้เอไอร่วมกับกล้องเพื่อระบุตัวตนของผู้โดยสาร และจับคู่คนเหล่านั้นเข้ากับกระเป๋าเดินทาง ซึ่งข้อดีก็คือ หากพบว่ามีกระเป๋าน่าสงสัยถูกวางทิ้งไว้ ระบบจะสามารถตรวจจับได้ทันที รวมถึงสามารถระบุตัวผู้เป็นเจ้าของได้โดยง่ายอีกด้วย

188907 94729 768 512 jpg
ภาพจากเอเอฟพี

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความไฮเทคเหล่านี้คือกลุ่มสตาร์ทอัพสัญชาติจีน อย่าง เซนส์ไทม์ (SenseTime)  ที่ปัจจุบันกลายเป็นสตาร์ทอัพด้านเอไอที่ได้รับเงินลงทุนมากที่สุดในจีนแล้วถึง 1,600 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 52,432 ล้านบาทภายใน 3 ปีที่เปิดธุรกิจ

ก่อนหน้านี้ รายงานจากเซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ ระบุด้วยว่า มีการการทดสอบระบบสแกนใบหน้าอยู่ในสนามบินนานาชาติแห่งเดิมของกรุงปักกิ่งด้วย โดยเป็นการทดสอบในพื้นที่บางส่วนที่ได้รับอนุญาตจากทางการจีน

ชื่อของ เซนส์ไทม์ ยังเป็นที่รู้จักมาแล้วก่อนหน้านี้กับการเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีสแกนใบหน้าเพื่อซื้อตั๋วรถไฟในสถานีรถไฟกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงเป็นผู้พัฒนาระบบไอทีให้กับสนามบินเฉิงตู และ ไห่โขว

ด้วยเหตุนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของกรุงปักกิ่งจะกลายเป็นสถานที่แห่งอนาคตที่จัดเต็มกับอุปกรณ์อัจฉริยะ คลาวด์ เวอร์ชวลเรียลลิตี้ และเอไอ ซึ่งจีนบอกว่า นี่จะเป็นการสร้างสนามบินแห่งอนาคตที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

สนามบินนานาชาติชางงี สิงคโปร์

2017 08 27 31569 1503808148. large

สิงคโปร์เปิดตัวอาคารผู้โดยสารหลังที่ 4 ในฐานะเทอร์มินอลไฮเทคที่มาพร้อมเทคโนโลยีมากมายให้ได้ใช้กันแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา

ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เช็คอิน ฝากกระเป๋า ตรวจหนังสือเดินทาง และการขึ้นเครื่องเป็นการปฏิสัมพันธ์กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ล้วน ๆ หรือที่ทางสิงคโปร์เรียกระบบนี้ว่า FAST ที่ย่อมาจาก Fast And Seamless Travel Technologies นอกจากนั้น ยังมีการติดตั้ง “Immersive Wall” จอดิจิทัล LED ขนาดใหญ่ ความยาว 70 x 5 เมตร สำหรับนำเสนอคอนเทนต์สถานที่สำคัญในสิงคโปร์เพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยวด้วย

มูลค่าการก่อสร้างเทอร์มินอล 4 ของสนามบินชางงีนั้นอยู่ที่ 985 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 24,000 ล้านบาท และถือเป็นเทอร์มินอลที่เล็กที่สุดเมื่อเทียบกันใน 4 เทอร์มินอลที่เปิดให้บริการ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 16 ล้านคนต่อปี

แต่เทอร์มินอล 4 ของสนามบินชางงี ก็กลายเป็นที่ต้องตาต้องใจของคนยุคใหม่อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีมุมสวย ๆ ให้ถ่ายรูปและแชร์ลงในโซเชียลมีเดียได้มากมายภายใต้ธีมการออกแบบของกลีบกล้วยไม้ นอกจากนั้นยังทำให้ความสามารถในการรองรับนักเดินทางของสนามบินเพิ่มขึ้นเป็น 82 ล้านคนต่อปีด้วย

แม้จะว้าวและดูล้ำหน้า แต่ก็มีรายงานว่า การใช้งานเทอร์มินอลดังกล่าวในช่วงแรกๆ นั้น นักเดินทางส่วนหนึ่งต้องใช้เวลานานกว่าปกติเพื่อทำความเข้าใจการทำงานของตัวระบบ เช่น การสแกนลายนิ้วมือ การสแกนใบหน้า ฯลฯ ว่ามีกระบวนการอย่างไร รวมถึง ต้องทำตัวอย่างไรจึงจะผ่านขั้นตอนการตรวจสอบนั้นมาได้ จึงพบว่ามีการขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

สนามบินนานาชาติแอตแลนตา สหรัฐ

Atlanta 2 0

นอกจากได้ชื่อว่าเป็นสนามบินที่พลุกพล่านที่สุดในโลกมาตั้งแต่ปี 2541 แล้ว สนามบินแอตแลนตา ของสหรัฐ  หรือชื่อจริงว่า สนามบินฮาร์ทสฟิลด์ – แจ็คสัน แอตแลนตา ในยุคหลังๆ ก็ยังมาพร้อมความไฮเทคไม่แพ้สนามบินแห่งใดๆ ของโลกเช่นกัน

สนามบินดังกล่าวเปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 20  ก่อนจะเริ่มติดอันดับสนามบินที่มีผู้ใช้บริการพลุกพล่านของสหรัฐประมาณปี 2473 รองจากนิวยอร์ก และชิคาโก

ต่อมาในปี 2558 สนามบินดังกล่าวก็ได้รับการบันทึกไว้ว่า รองรับนักเดินทางมากกว่า 100 ล้านคนต่อปีเป็นแห่งแรกของโลก และทุกวันนี้ก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในแต่ละวัน สนามบินแห่งนี้มีเที่ยวบินขึ้นลงมากถึง 2,500 เที่ยวบิน รองรับผู้โดยสาร 275,000 คน และสินค้าอีกจำนวนมาก เนื่องจากเป็นฮับของสายการบินขนาดใหญ่อย่างเดลต้า แอร์ไลน์ รวมถึงเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อการบินของสหรัฐ  โดยมีจุดหมายปลายทางในประเทศกว่า 150 แห่ง และจุดหมายปลายทางนอกประเทศอีก 95 แห่งใน 57 ประเทศและดินแดน

สำหรับความไฮเทคที่สอดแทรกอยู่ภายในสนามบินนั้น ถูกออกแบบโดยอิงกับการสร้างประสบการณ์ทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโคเวิร์กกิ้งสเปซ  ขนาดใหญ่ไว้เป็นที่รวมตัวของคนยุคดิจิทัล การติดตั้งแท่นชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เอาไว้ตามจุดต่าง ๆ ทั่วสนามบิน รวมถึงการใช้คิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อให้นักเดินทางสแกนแลกกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี จากภาพของสนามบินยักษ์ใหญ่ที่กล่าวมานี้ มีบางสิ่งที่กำลังสะท้อนให้เห็นว่า การมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเพียงอย่างเดียวนั้น อาจไม่เพียงพอต่อการสร้างประสบการณ์การใช้งานเชิงบวก หรือแม้กระทั่งสร้างความ “ว้าว” โดยนักออกแบบที่เข้าใจถึงอินไซด์ของผู้บริโภค ถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะเข้ามาปรับแต่งประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยีให้ดีขึ้น เพื่อให้ความว้าวเหล่านั้นสื่อสารออกไปได้ตรงจุด

ที่มา: South China Morning Post, Jakarta Post, CNBC และ www.airport-technology.com

 

Avatar photo