Digital Economy

เปิดอาณาจักร “เอไอ” ของไมโครซอฟท์

ท่ามกลางโลกที่อยู่ในยุคแห่งการ Transformation…

หลายคนอาจได้ฟังประโยคเริ่มต้นบทความในลักษณะนี้มาบ่อยครั้งแล้วในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา แต่เราเชื่อว่า ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ต่างออกไป เพราะผู้ที่ออกมาบอกให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงคือบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกที่หากเอ่ยชื่อไปทุกคนต้องรู้จักและคุ้นเคยกันอย่างดี

“ไมโครซอฟท์” (Microsoft)

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธ์
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธ์ กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย

แต่การเปลี่ยนของไมโครซอฟท์ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเทคนิค หากแต่เป็นการปรับองค์กรจากภายในในเรื่องของวัฒนธรรมที่ “ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด ออกมาบอกว่า ไมโครซอฟท์กำลังเปลี่ยนจาก “Know It All Culture” สู่ “Learn It All Culture”

โดยในระยะเวลา 1 ปี 2 เดือนหลังรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ คุณธนวัฒน์เผยว่า มีหลายแง่คิดที่เกิดขึ้น ไมโครซอฟท์ในวันนี้ไม่ได้ต้องการเป็นผู้ที่รู้ไปเสียทุกอย่างจนไม่เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ กลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่ไม่ยอมเสี่ยง ตรงกันข้าม ไมโครซอฟท์ในวันนี้คือองค์กรที่พร้อมจะเรียนรู้ไปกับพาร์ทเนอร์และลูกค้า

“ยกตัวอย่างลูกผม เขาอาจไม่ได้เก่งที่สุดในห้อง แต่เขาขยัน จนเรียนได้ A ทั้งหมด แต่เมื่อผมถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เขากลับบอกว่าไม่รู้ ในฐานะพ่อ ผมเลยอยากกระตุ้นให้ไปลองเรียนเรื่องใหม่ ๆ บ้าง เขาก็บอกว่า เขากลัว กลัวว่าถ้าไปเรียนเรื่องนั้นเขาจะไม่ได้ A ธุรกิจก็เช่นกัน องค์กรขนาดใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ก็ไม่รู้ว่า อนาคตอยากจะเป็นอะไร หรือจะต้องไปเป็นอะไร มีเรื่องที่ไม่รู้อยู่เต็มไปหมด”

ในมุมของคุณธนวัฒน์ ธุรกิจในปัจจุบันจึงต้องมีกระบวนการบางอย่างที่ผลักดันให้ธุรกิจออกไปทำเรื่องที่มองว่าเสี่ยง หากล้มก็เรียนรู้จากสิ่งนั้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็คือการเป็นองค์กรที่พร้อมจะ “Learning” นั่นเอง

learning ai
การใช้เอไอของไมโครซอฟท์

จากองค์กรแห่งการ Learning สู่การ Disrupt ธุรกิจเอไอ

นอกจากการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้แล้วแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ภายในองค์กรแห่งนี้กำลังพยายามทำอยู่ก็คือการ Disrupt ตัวเอง โดยขุมทรัพย์ที่ไมโครซอฟท์ถือไพ่เหนือกว่าบริษัทเทคโนโลยีเจ้าอื่น ๆ ก็คือ “คลาวด์” และการที่ไมโครซอฟท์บอกว่ากำลังฝัง (Embedded) เอไอของตัวเองลงไปในทุก ๆ โปรดักซ์

“การใช้เอไอวันนี้ ผมตั้งคำถามว่า เราจะทำอย่างไรในการ democratize เอไอให้ทุกคนได้ใช้อย่างทั่วถึง มันจะเป็นไปได้ไหม ที่บริษัทจะไม่ต้องมี Data Scientist นั่งอยู่ในออฟฟิศ 200 คนอีกต่อไป”

คำถามดังกล่าวเกิดขึ้นจาก 2 ภาพ

  • ภาพแรกคือภาพที่ไมโครซอฟท์พบด้วยตัวเองว่า ลูกค้าทุกวันนี้ต้องการให้ไมโครซอฟท์ช่วยมาสอนว่าลูกค้าจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรมากกว่าการแค่ไปนำเสนอ แล้วก็หวังว่าลูกค้าจะชอบใจ และนำไปใช้ต่อ โดยไมโครซอฟท์พบว่า วันนี้ วิธีนั้นไม่เวิร์กอีกต่อไปแล้ว
  • ภาพสองคือการที่ธุรกิจต่าง ๆ เริ่มมีการนำเทคโนโลยีที่เคยเป็นเรื่องไกลตัวอย่าง IoT, บล็อกเชน, คลาวด์, เอไอ ฯลฯ เข้ามาปรับใช้กับธุรกิจอย่างจริงจังจนเริ่มเห็นถึงความแตกต่างทางการแข่งขัน ใครที่ยังไม่ได้ลงทุน ก็ย่อมสนใจอยากลงทุนบ้างเป็นธรรมดา แต่นั่นหมายถึงงบประมาณมหาศาลทั้งในเรื่องบิ๊กดาต้า และการว่าจ้าง “Data Scientist” ที่มีค่าตัวสูงลิ่ว ผลก็คือ ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ บริษัทขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณมากมีโอกาสเหนือกว่าบริษัทขนาดเล็ก กลายเป็นปลาที่ทั้งใหญ่ และไว คอยไล่กินปลาชนิดอื่นในท้องทะเล

ในจุดนี้ การมีคลาวด์ และการมีแพลตฟอร์มของตัวเอง จึงอาจกลายเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้ ไมโครซอฟท์สามารถ democratize เอไอให้ทุกคนได้ใช้อย่างทั่วถึง

learning ai
การนำเอไอมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

เอไอของไมโครซอฟท์

สำหรับศักยภาพเอไอของไมโครซอฟท์ ที่ผ่านมามีความสำเร็จขนาดใหญ่ในระดับที่ทัดเทียมความสามารถของมนุษย์เกิดขึ้น 4 ครั้ง ดังนี้

  1. ศักยภาพด้านการมองเห็นและรับรู้วัตถุ เทียบเท่ากับมนุษย์ในปี 2559
  2. การรับฟังเสียงพูดของมนุษย์ เทียบเท่ากับมนุษย์ในปี 2560
  3. การอ่านจับใจความ เทียบเท่ากับมนุษย์เมื่อเดือนมกราคม ปี 2561
  4. การแปลภาษา (จีน-อังกฤษ) เทียบเท่ากับมนุษย์เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2561

แต่หากกล่าวให้เห็นภาพ อาจต้องยกตัวอย่างโปรเจ็ค BMW ConnectedDrive ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา กับระบบภายในที่สามารถปรับทุกอย่างภายในรถให้ Personalized ให้เข้ากับคนขับแต่ละราย ไม่ว่าจะเป็นความเย็นของเครื่องปรับอากาศ เพลงที่ชอบ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ใช้เอไอของไมโครซอฟท์

หรืออีกหนึ่งตัวอย่างก็คือแอพพลิเคชันชื่อ Seeing AI ที่ในตอนแรกวิศวกรไมโครซอฟท์พัฒนาขึ้นเพื่อหวังช่วยผู้พิการทางสายตาให้ได้รับรู้และ “มองเห็น” สิ่งแวดล้อมภายนอก แต่สำหรับการใช้งานในปัจจุบัน สามารถขยายไปสู่การเรียนรู้ของคนทุกวัย (เพราะสามารถจิ้มแล้วสแกนอ่านหนังสือต่าง ๆ ออกมาเป็นเสียงเลย ทำให้เด็ก ๆ หรือผู้ใหญ่ที่กำลังอยากเรียนภาษาต่างประเทศสามารถใช้แอพพลิเคชันนี้ศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองได้ –  ปัจจุบันรองรับเฉพาะ iOS)

นอกจากนั้นยังมีโซลูชันชื่อ FarmBeats ที่นำเซ็นเซอร์ โดรน กล้อง และระบบ Machine Learning มาช่วยมอนิเตอร์พื้นที่เกษตรกรรมเพื่อวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างถูกจุด หรือ Conservation Metrics ที่เป็นการนำเอไอมาแยกแยะเสียงสัตว์ออกจากเสียงอื่นๆ ในสภาพแวดล้อมรอบข้าง ก่อนจะนำไปวิเคราะห์เพื่อบันทึกเป็นข้อมูลในการติดตามประชากรสัตว์ป่า เป็นต้น

ความสำเร็จของการใช้เอไอของไมโครซอฟท์ยังส่งผลให้ธุรกิจคลาวด์ของบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วด้วย โดยในภาพรวม ตามการเปิดเผยของคุณธนวัฒน์พบว่าโตขึ้น 48% (กรกฎาคม 2560 – มิถุนายน 2561) แต่หากแบ่งตามประเภทแล้ว

  • Azure โต 124% (ระดับโลกโต 80%)
  • Modern Workplace 31%
  • Dynamics 535%
  • Surface 40%

เอไอ ฟอร์ ไทยแลนด์

จากผลประกอบการในปี 2561 (2018) ที่ผ่านมาสู่การขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2562 (2019) ที่เริ่มขึ้นแล้วนี้ ไมโครซอฟท์ บอกว่า จะโฟกัสไปที่การนำเอไอมาปรับใช้กับประเทศไทยให้มากขึ้นในทุกภาคส่วน ที่ไมโครซอฟท์บอกว่าอยากให้ไปได้เร็วและไปด้วยกัน (Accerlerate together) ทั้งกับลูกค้า ผู้ใช้งาน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ

“เราต้องการ Accerlerate together คือทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่า ความเร็วมาเหนือกว่าควอลิตี้ ธุรกิจไม่สามารถรอได้จนโปรดักซ์สมบูรณ์จึงจะเปิดตัว แต่ต้องเปิดตัวให้เร็วแล้วเรียนรู้จากมัน จากนั้นก็พัฒนาต่อ หนึ่งในนั้นคือเรามีแอพพลิเคชัน Seeing AI ที่ตอนนั้นมันยังไม่ไทย แต่ปีนี้ เราจะทำให้มันไทยด้วยการเปิดตัว Speech to text เป็นภาษาไทยในงาน Ignite ที่จะมีขึ้นที่ออแลนโด สหรัฐอเมริกา วันที่ 24 กันยายนนี้”

โดย Speech to text เป็นภาษาไทย จะเป็น API อยู่ใน Azure Services ช่วยให้นักพัฒนาสามารถหยิบไปใช้งานได้เลย

หรือการใช้เทคโนโลยี Mixed Reality ที่ไมโครซอฟท์นำแว่น MR ให้สตาร์ทอัพรายหนึ่งของไทยไปใช้ในการฝึกคนขับรถตัดข้าวโพด โดยคุณธนวัฒน์เผยว่า ที่ผ่านมา ข้าวโพดในฐานะสินค้าส่งออกของไทยนี้ ต้องการผู้ที่เชี่ยวชาญในการขับรถตัดข้าวโพดพอสมควร เพราะหากขับรถไม่เก่งก็จะเกิดของเสียเป็นจำนวนมาก คิดเป็นเงินหลายร้อยล้านบาทต่อปี ไมโครซอฟท์ร่วมกับสตาร์ทอัพรายนี้จึงนำแว่น MR ให้คนที่ขับรถตัดข้าวโพดเก่งได้ใส่ จากนั้นก็ใช้เอไอเรียนรู้วิธีการขับเอาไว้

รูปแบบการขับที่เอไอจดจำไว้นี่เอง กลายเป็นบทเรียนเอาไว้สอนคนขับรถมือใหม่ให้ได้เรียนรู้ก่อนจะขึ้นขับรถตัดข้าวโพดจริง ซึ่งจะช่วยให้ภาคการผลิตลดปัญหาของเสียได้ดีขึ้น

corn
ภาพจาก Pixabay

นอกจากนั้น ในการติดต่อสื่อสาร แอพพลิเคชันเช่น สไกป์ (Skype) จะมีการนำเอไอมาทำให้เกิดภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ เพื่อความปลอดภัยของการเจรจาพูดคุยด้วยเช่นกัน

“คำว่า Accerlerate Together ในมุมของไมโครซอฟท์คือการเดินเข้าไปบอกลูกค้าซึ่งรู้จักธุรกิจของตัวเองดีที่สุดว่า เรามีเทคโนโลยี คุณมีธุรกิจ เรามาทำอะไรร่วมกันดีกว่า ส่วน Together กับประเทศ ก็คือการทำเทรนนิ่ง เพื่อให้คนไทยมีทักษะ สามารถนำเอไอไปใช้งานได้ดีขึ้นกว่าเดิม”

ทิ้งท้ายด้วยการ Disruption ที่ผู้บริหารไมโครซอฟท์ทำกับตัวเอง ที่คุณธนวัฒน์เล่าว่า “ผมเองก็มีทำ Simple Disruption กับตัวเองในเรื่องการบริหารจัดการเวลา ด้วยการตั้งใจว่าจะสวดมนต์ทุกวันตอนเช้า ซึ่งผมก็สวดมนต์มาในระหว่างที่นั่งรถไปทำงาน สวดเพื่อให้ตัวเองมีสติที่จะโฟกัสกับงาน เพราะผมเชื่อว่า ถ้าเราไม่สามารถระบุได้ว่าอะไรต้องทำก่อนทำหลัง เราจะไม่สามารถจัดการงานต่าง ๆ ได้ดีครับ”

Avatar photo