COLUMNISTS

เส้นทาง ‘ประชาธิปัตย์’ ทางหลัก ‘ประเทศไทย’

Avatar photo
3
ระยะหลังดูรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ผูกขาดดำเนินรายการทุกวันศุกร์มานานเกือบสี่ปีแล้ว รู้สึกทดท้อใจมากขึ้นเรื่อยๆ
11395 20171204020159
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
สิ่งที่อยากเสนอด่วนคือ ขอให้เปลี่ยนชื่อก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากเนื้อหาในรายการมิได้มีส่วนใดที่สื่อสารถึงการนำศาสตร์พระราชามาใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามชื่อ
แต่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อการทำงานของรัฐบาล คสช. บวกกับการใช้เป็นเวทีแก้ต่างทางการเมือง ก่นด่าคนอื่นข้างเดียว มิได้เป็นเรื่องของศาสตร์พระราชาแต่อย่างใด
ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ ใช้รายการนี้เป็นเวทีแก้ตัวเรื่องการดูดส.ส. แถมด้วยทัศนคติบิดเบี้ยวทางการเมือง ที่พยายามชักจูงให้คนเชื่อว่า การดูดส.ส.เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะเป็นครรลองประชาธิปไตยของไทย ด้วยข้อความว่า
“กรณีที่มีข่าวเรื่องการดูด ส.ส.พรรคโน้น พรรคนี้ ผมไม่ใช่นักการเมือง ทำงานการเมืองในตอนนี้ แต่ทุกคนทราบดีว่าเรื่องการดูดนี่มีมายาวนานแล้ว ไม่ใช่มาบอกแต่ คสช.ดูด ผมก็อยู่ตรงนี้ อยู่เป็นรัฐบาล ที่จะต้องอำนวยการให้เกิดการเลือกตั้งให้ได้ ฉะนั้นเรื่องการดูดกันมันก็มีทุกพรรคการเมืองมายาวนานแล้ว เป็นครรลองของประชาธิปไตยของไทยตลอดมา หลายคนอาจจะอ้างว่าทำด้วยอุดมการณ์ ด้วยนโยบายเพื่อชาติและประชาชน คำว่าดูดส.ส.คงเป็นภาษาของสื่อเป็นการตลาด”
คำกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ ขาดความเข้าใจถึงรูปแบบการเมืองที่ดีโดยสิ้นเชิง เพราะการสมัครใจเข้าร่วมทำงานกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เนื่องจากมีอุดมการณ์ที่ตรงกันนั้น จะไม่ถูกเรียกว่าดูด และเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น
แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ที่มีการนำผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งทางการเมือง หรือกระสุนดินดำมาแลกเปลี่ยนเพื่อล่อตาล่อใจให้ไปรวมหัวกันในวันฝนตก นั่นแหละที่เขาเรียกว่า “ดูด” ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมเขากำลังจับตาว่ากำลังเกิดในยุคของคสช
การดูดเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ล้าสมัยว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงเกมส์ของตัวเลข โดยไม่ต้องยึดหลักการหรือความเชื่อใดใด ทำให้มีการซื้อขายส.ส ถีงกับเคยเปรียบเทียบส.ส.เป็นโสเภณี  ซึ่งแปลว่า พัฒนาการระบบประชาธิปไตยของการเมืองไทยไปกว่า 40ปี เมื่อยุคจอมพลครองเมือง
การดูดส.ส.จึงไม่ใช่ครรลองประชาธิปไตย ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจ เพราะการใช้อำนาจรัฐมาต่อรอง หรือเสนอประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อดึงนักการเมืองไปเป็นพวก หวังแต่คะแนนเสียงโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง เป็นบ่อเกิดของการเมืองขี้ฉ้อ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะนำวิกฤติมาสู่บ้านเมือง มิใช่หนทางปฏิรูปการเมืองที่พล.อ.ประยุทธ์ พร่ำพูดให้ความหวังมาโดยตลอดแต่ไม่เคยปฏิบัติ
ที่สำคัญคือพรรคประชาธิปัตย์ไม่คิดเปลี่ยนท่าทีไปสนับสนุนแนวทางที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน
คำถามที่พล.อ.ประยุทธ์เคยตั้งไว้ในวันที่ไม่พอใจหัวหน้าอภิสิทธิ์ที่ให้ความเห็นว่า คนที่ไม่สนับสนุนหัวหน้าพรรคตัวเอง ก็มีพรรคอื่นให้สังกัดที่ว่า
“…ลองคอยดูวันหน้าก็แล้วกัน เลือกตั้งแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเขาจะเปลี่ยนท่าทีอะไรกันอย่างไร ก็ไปคอยดูตรงโน้นแล้วกัน แล้วค่อยไปถามเขาอีกที”
วันนี้มีคำตอบจากอดีตนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงเส้นทางของพรรคหลังเลือกตั้งไว้แล้วว่า
“วันนี้ชัดเจนว่า หลักของเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเริ่มต้นจากการที่ทุกคนต้องมีสิทธิมีเสียง เป็นเจ้าของประเทศ และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นพรรคการเมือง ที่ต้องไปดิ้นรนจับมือกับใคร ถ้าพรรคมีความเห็นว่าจะทำงานกับใครแล้ว ไม่ตรงกับอุดมการณ์ นำพาบ้านเมืองไปผิดทิศผิดทาง พรรคประชาธิปัตย์ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบ ไม่มีปัญหาอะไรเลย ตรงนี้อาจจะเป็นความไม่เข้าใจ เพราะบางพรรคเขาไม่สามารถที่จะอยู่เป็นฝ่ายตรวจสอบได้ ก็ต้องดิ้นรนในการเข้าหาอำนาจ”
สภาพบ้านเมืองที่ คสช.เปลี่ยนบทบาทจากกรรมการหย่าศึก ลงมาเป็นผู้เล่นที่คลุกวงใน ทำให้ถูกมองว่าเป็นการเมือง “สามเส้า” คือ พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และคสช. จนมักมีคำถามในลักษณะที่ว่า ประชาธิปัตย์จะรวมกับเพื่อไทยไหม  ถ้าไม่รวมกับเพื่อไทยก็คือหนุนพล.อ.ประยุทธ์ ใช่หรือไม่
คำตอบคือพรรคประชาธิปัตย์มีเส้นทางของตัวเอง นำพาบ้านเมืองไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ประชานิยม และไม่ย้อนยุคใช้ราชการมาขับเคลื่อนประเทศ
แต่เราจะลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน นำบ้านเมืองสู่การปฏิรูป เพื่อให้เส้นทาง “ประชาธิปัตย์” เป็น ทางหลักของ “ประเทศไทย”