COLUMNISTS

NPL สินเชื่อที่อยู่อาศัยสูงสะท้อนตลาด

Avatar photo
86

mSQWlZdCq5b6ZLkrgJkGyXDQWdJ1gNMd

วันก่อนมีโอกาสไปร่วมฟังบรรยาย ดินเนอร์ทอล์ค ของสมาคมอาคารชุดไทย ซึ่งจัดบรรยายเรื่อง “สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในมุมมมองนักวิเคราะห์ และสถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย” โดยผู้บรรยายเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ จากฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ และผู้บริหารธนาคารกรุงศรีอยุธยา คุณณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ในเวทีมีการพูดถึงประเด็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยน่าสนใจหลายประเด็น แต่โดยส่วนตัวแล้วสนใจเรื่อง NPL : Non Performing Loan หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีข้อมูลว่าในปี 2560 ยอด NPL สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยธนาคารพาณิชย์ ทรงตัวอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงคือที่ 3.06%-3.26%

เมื่อเทียบกับ NPLสินเชื่อที่อยู่อาศัยปีก่อนหน้านี้ พบว่าสูงขึ้นทั้งใน 5 กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย

  • ธนาคารกรุงเทพ
  • ธนาคารกรุงไทย
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  • ธนาคารกสิกรไทย
  • ธนาคารไทยพาณิชย์

รวมทั้งอีก 8 ธนาคารที่เหลือยอด NPL สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

อีกประเด็นที่น่าสนใจเช่นกันคือ กรณีที่ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2560 ยอดสินเชื่อติดลบ คือหดตัวไปราว 9% แต่มาในช่วงครึ่งปีหลังยอดสินเชื่อปล่อยใหม่เติบโตแบบก้าวกระโดด เป็นบวก 26% ความน่าสนใจอยู่ที่การเติบโตแบบก้าวกระโดดนี้ ไม่ได้สะท้อนการเติบโตของธุรกิจอสังหาฯ เพราะสินเชื่อที่ปล่อยใหม่เหล่านี้ ส่วนใหญ่พบว่าเป็นการรีไฟแนนซ์ หรือการขอสินเชื่อใหม่จากลูกค้าสินเชื่อเดิม

เนื่องจากในตลาดมีผู้ให้บริการ รีไฟแนนซ์บ้านในรูปแบบฟินเทค บริการออนไลน์ ที่เป็นการเปรียบเทียบและแนะนำการรีไฟแนนซ์บ้านโดยเฉพาะ ในบริการของรีฟินน์ เว็บไซต์คู่มือการทำรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณกรณ์ จาติกวณิช ที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก

ยอดรีไฟแนนซ์สินเชื่อเดิม เพื่อขอสินเชื่อใหม่ที่ได้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อเดิม ถือเป็นทางเลือกของผู้บริโภค และยอดรีไฟแนนซ์ก็ไม่ได้สะท้อนว่าตลาดเดิบโต เพราะไม่ใช่สินเชื่อจากการซื้อโครงการใหม่ แต่เป็นสินเชื่อเดิมที่ปรับตัว ตัวเลขนี้จึงสะท้อนว่าตลาดอสังหาฯไม่ได้เติบโตมากนัก เพราะยอดขอสินเชื่อใหม่ที่แท้จริงมีจำนวนไม่มาก เรียกได้ว่าภาพรวมอสังหาฯยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่าแนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในปี 2561 คาดว่าจะเติบโตที่ 4-7% ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่จะอยู่ที่ 6.6-6.79 แสนล้านบาท จะเป็นตามนี้หรือไม่ต้องติดตาม