COLUMNISTS

ความลับปฏิบัติการถ้ำหลวงยังไม่ถูกค้นพบ

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
1055

ปฏิบัติการกู้ภัยถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ผ่านมากว่า 6 เดือนแล้วเรื่องราวชวนให้ทึ่งในครั้งนั้น ยังถูกกล่าวถึงในแง่มุมต่างๆ เป็นระยะๆ มาโดยตลอด 

Cave rescue 960x576

 ปลายปีที่แล้ว กระทรวงวัฒนธรรมมอบรางวัลให้แก่ บุคคลที่มีผลงานด้านวัฒนธรรมและสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ  โดยมีผู้เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการกู้ภัยถ้ำหลวง ขุนน้ำ นางนอนได้รับรางวัล รวม 3 คน คือ

 “จ่าแซม” นาวาตรี สมาน กุนัน วีรบุรุษผู้เสียสละชีวิต ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร  ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา (ผู้ว่าฯจังหวัดเชียงรายขณะนั้น)  ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวงฯ (ศอร.) และ อาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์  ศิลปินแห่งชาติผู้อุทิศแรงและทรัพย์สร้างพิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวง

ข่าวที่ตามมาไล่เลี่ยกันคือ เรื่องราว 18 วัน การเอาตัวรอดของเด็กทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี และโค้ช  13 คน  กับภารกิจกู้ภัยที่ผู้คนมากมายเข้าร่วม กำลังถูกเล่าต่อ ผ่านจอภาพยนตร์ โดยผู้สร้างทั้งในประเทศ และค่ายหนังระดับฮอลลีวูด รวมทั้งสารคดีถ้าหลวงฉบับเต็มของไทยพีบีเอสที่เริ่มออกอากาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อปฏิบัติการกู้ภัยทีมหมูป่าสิ้นสุดลง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสถาบันการศึกษา ต่างถอดบทเรียนเพื่อหาปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของภารกิจๆ ที่เริ่มต้นด้วยเสียงอุทานในใจของ ณรงค์ศักดิ์ ผู้บัญชาการ ศอร. ว่า มิสชันอิมพอสสิเบิล เมื่อถึงที่เกิดเหตุครั้งแรก ก่อนจบลงด้วยภารกิจที่เป็นไปได้ และกลายเป็นปรากฎการณ์ ที่จับใจผู้คนทั่วโลก

โรงเรียนธุรกิจวาร์ตัน มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย บอกว่า ภารกิจครั้งนี้เป็น บทเรียนของความเป็นผู้นำ การแสดงออกทางจิตใจอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ รวมถึงการบริหารจัดการอันดีเยี่ยม

 ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ กล่าวถึงคีย์ซัคเซสของปฏิบัติการกู้ภัยระหว่างเป็นตัวแทนรับรางวัลเอเชียเชนเจอร์ 2018 ที่นิวยอร์ก สหรัฐ เมื่อปีที่แล้วว่า  มาจากวิสัยทัศน์ที่ดี  การวางแผน และวินัยในการทำงาน

แต่บทเรียนทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานั้น  คงไม่มีความหมายหากไม่มีความเป็นหนึ่งเดียวของผู้ร่วมปฏิบัติการกู้ภัย ทั้งที่มีหน้าที่โดยตรง และจิตอาสาโดยธรรมชาติที่ ทำให้ปฏิบัติการกู้ภัยถ้ำหลวงได้รับการยอมรับไปทั่วโลก

สื่อรายงานเมื่อปฏิบัติการกู้ภัยเสร็จสิ้นลงว่า มี  217  หน่วยงาน จากภาครัฐ ทหาร ตำรวจ  สถาบันการศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ นักดำน้ำ กู้ภัย วิศวกร เอกชน  รวมทั้งจิตอาสา  มากกว่า 4,599 นาย จาก 7 ประเทศ  เข้าร่วมปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้  เกือบครึ่งเป็นกำลังพลจากกองทัพบก มีนักดำน้ำ 200 คน  จาก ยุโรป  แคนาดา จีน ออสเตรเลีย และไทย 

image

นักธรณีวิทยา คนสำรวจหาโพรง วิศวกรที่เชี่ยวชาญด้านขุดเจาะ  นักภูมิศาสตร์ คนเดินสายไฟฟ้า  คนติดตั้งระบบสื่อสาร  คนสูบน้ำ คนเจาะน้ำบาดาล ผู้รู้เรื่องถ้ำ  นักปีนผา  บุคคลากรด้านการแพทย์  คนขับรถจักรยานยนต์ คนซักผ้า คนตัดผม  คนทำอาหาร  คนทำความสะอาด  ฯลฯ

รวมทั้ง สื่อมวลชนจากทั่วโลกอีก 700 คนที่อัพเดทข่าวให้โลกได้รับรู้ทุกนาที  กลุ่มคนจากหลากหลายอาชีพมีทั้งทำงานสัมพันธ์กันโดยตรง และอ้อม  ทั้งหมดยึดโยงด้วยเป้าหมายเดียวกันคือ พาทีมหมูป่ากลับบ้าน  

ปรากฎการณ์เหลือเชื่อข้างต้นจับใจ เจย์ พารินี  กวีชาวอเมริกัน ที่เขียนบทความลงในเว็บไซด์ซีเอ็นเอ็น เรื่อง “ทำไมเราจึงไม่สามารถเลิกติดตามการกู้ภัยที่ถ้ำหลวง” เพื่อบอกว่าโลกในอุดมคติ ไม่มีชาติ ศาสนา สีผิว นั้นมีอยู่จริง     

การถอด บทเรียนจากปฏิบัติการถ้ำหลวงมักเน้นเรื่อง ภาวะผู้นำ  การบริหารจัดการ  การกู้ภัย วิศวกรรม ธรณีวิทยา  แต่ไม่ได้สืบค้นถึงปัจจัยที่ทำให้เกิด  “สปิริตถ้ำหลวง”  ที่ผู้คนต่างความเชื่อ และเชื้อชาติสามารถร่วมกันเป็นหนึ่ง

หากค้นพบความลับที่สามารถเปลี่ยนความคิดของผู้คนที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงให้รวมเป็นหนึ่งและอุทิศตัวเพื่อเป้าหมายเดียวกัน จนเกิดสปิริตถ้ำหลวงขึ้น ได้  เราอาจค้นพบหนทางที่จะนำไปสู่  สปิริตประเทศไทย” เพื่อ หลุดพ้นจากวังวนความขัดแย้งทางการเมือง ที่ยืดเยื้อ มานานกว่า 10 ปีนี้เสียที