COLUMNISTS

เมื่อ ‘ภัณฑารักษ์’ มาอยู่ในคอนโดมิเนียม

Avatar photo
รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนากลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร
904

หากเอ่ยถึง “ภัณฑารักษ์” เราจะนึกถึงภาพของผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ที่เป็นแหล่งรวบรวมสิ่งของที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และงานศิลปะหายาก ดังนั้นผู้ที่จะมาทำหน้าที่ดูแลของสำคัญเหล่านี้ต้องมีความรู้ที่หลากหลายและลึกซึ้งในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และศิลปะ เพราะต้องทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ไปสู่ผู้มาเยือน “ภัณฑารักษ์” จึงต้องเป็นตัวกลางที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของสิ่งของให้ผู้ที่มาเยี่ยมชม และให้การต้อนรับผู้คนจำนวนมากอีกด้วย ในต่างประเทศนั้นอาชีพภัณฑารักษ์ได้รับความสำคัญอย่างมาก มีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านภัณฑารักษ์โดยตรง ผู้ที่จะมาทำอาชีพนี้ต้องจบการศึกษาด้านภัณฑารักษ์เท่านั้น

ส่วนประเทศไทยนั้นแม้ปัจจุบันอาชีพ “ภัณฑารักษ์” จะไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่น่าจะเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าจับตาในอนาคต เพราะประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์กระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น “พลัส พร็อพเพอร์ตี้” ยังมองว่า ปัจจุบันโครงการคอนโดมิเนียมระดับลักซ์ชัวรี่บางแห่ง ก็เริ่มเป็นแหล่งสะสมชิ้นงานศิลปะที่หายากระดับโลก มีการตกแต่งพื้นที่ส่วนกลางด้วยศิลปวัตถุหรือสิ่งของที่มีมูลค่าสูง ดังนั้นการดูแลทรัพย์สินส่วนกลางที่มีมูลค่าสูงนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากมืออาชีพ ที่ต้องใช้ทักษะความรู้ด้านภัณฑารักษ์เช่นกัน

PLUS ภัณฑารักษ์ 01

สำหรับการเติบโตของคอนโดมิเนียมระดับลักซ์ชัวรี่นั้นจากข้อมูลย้อนหลังจากปี 2557-2562 พบว่ามี มูลค่าตลาดเติบโตเฉลี่ยปีละ 9% ซึ่งในโครงการระดับลักซ์ชัวรี่นั้น มีหลายโครงการที่ส่วนกลางมีศิลปวัตถุหรือของตกแต่งที่เป็นทรัพย์สินมูลค่าสูง ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยเฉพาะจากมืออาชีพ เช่น โครงการ 98 Wireless ที่มีหนังสือเก่าแก่หุ้มปกหนังแท้ อายุกว่า 100 ปี มูลค่ารวมกว่า 10 ล้านบาท การดูแลต้องวางเรียงให้มีอากาศถ่ายเท มีการเปิดหนังสือให้ได้ระบายอากาศ และควบคุมอุณภูมิของห้องเก็บหนังสือให้เหมาะสม ไม่ให้มีความชื้น หรือโซฟาหนังนูบัค (Nubuck) มูลค่า 3 ล้านกว่าบาท ต้องดูแลห้ามโดนแสงแดดเพื่อป้องกันสีลอก ทำความสะอาดโดยการดูดฝุ่น คราบสิ่งสกปรกกำจัดโดยใช้น้ำยาเฉพาะ และใช้น้ำยาเคลือบเพื่อคงสภาพความสวยงาม

โต๊ะไม้มะฮอกกานี ไม้โรสวูดเก่าแก่ อายุกว่า 100 ปี ที่ต้องควบคุมอุณภูมิห้องไม่ให้มีความชื้น ใช้น้ำยาเฉพาะของประเภทไม้นั้นๆ และใช้น้ำยาเคลือบคงสภาพ ป้องกัน และหากมีการวางดอกไม้สดตกแต่งบนโต๊ะ ต้องระวังน้ำจากดอกไม้หยดจนเป็นคราบน้ำ ที่อาจสร้างความเสียหายได้ รวมถึงภาพวาดเก่าแก่ ที่ต้องปัดฝุ่นโดยใช้แปรงขนม้า เพราะมีความอ่อนนิ่มที่กำลังพอเหมาะ เป็นต้น ซึ่งการดูแลสิ่งของมีค่าเหล่านี้ล้วนเป็นทักษะที่เกี่ยวกับงาน “ภัณฑารักษ์” ทั้งสิ้น ที่ไม่เพียงแต่ต้องมีความรู้เรื่องการบำรุงรักษาคงคุณค่าของสิ่งของเท่านั้น แต่ยังต้องทราบถึงเรื่องราวความสำคัญของสิ่งนั้นเพื่อสามารถถ่ายทอดให้ลูกบ้านหรือผู้พักอาศัยที่สนใจได้ทราบถึงที่มาและเห็นคุณค่าของสิ่งของเหล่านี้ เนื่องจากทรัพย์สินส่วนกลางก็นับเป็นสินทรัพย์ร่วมกันของเจ้าของร่วมด้วยเช่นกัน

ห้องสมุด

การดูแลบริหารโครงการและให้บริการในคอนโดระดับลักซ์ชัวรี่นั้น ผู้ดูแลต้องมีทักษะเพิ่มเติมเพื่อรองรับการให้บริการพิเศษ เนื่องจากคอนโดระดับลักซ์ชัวรี่นอกจากลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่นอย่างเรื่องที่ตั้งโครงการที่มักอยู่ใน Prime Location ทำเลที่มีศักยภาพ อยู่ในย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง เป็นทำเลหายากและเป็นที่ต้องการของผู้อยู่อาศัยตลอดเวลา ทำให้ราคาที่ดินและราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็ยังมีความโดดเด่นด้านอื่นๆ อีกด้วย เช่น การพัฒนาโครงการที่มี Partnership ร่วมมือกับคู่ค้าทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาโครงการทั้งการก่อสร้างและการบริการ เช่นการจับมือกับดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกในการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมให้มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ดังเช่นการออกแบบงานศิลปะที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก หรือการมี Exclusive Service มีการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าและอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตด้วยบริการที่เหนือระดับมาตรฐาน ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการ เช่น การมีผู้ที่มีทักษะด้านภัณฑารักษ์ที่เข้ามาดูแลทรัพย์สินส่วนกลางมูลค่าสูง เป็นต้น

“พลัส พร็อพเพอร์ตี้” ในฐานะที่อยู่ในภาคบริการอสังหาริมทรัพย์ และดูแลโครงการระดับลักซ์ชัวรี่มาอย่างยาวนาน ได้มีการพัฒนาและเสริมทักษะบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย สอดคล้องกับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป โดยได้จัดตั้งเป็นสถาบันที่เรียกว่า PLUS Eduplex และล่าสุด ได้มีการจัดอบรมหลักสูตร “ภัณฑารักษ์ ศิลปะการดูแลทรัพย์สินมูลค่าสูง” (Curator : Behind the Scenes to Master the Exquisite Care) โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรมาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับศิลปวัตถุ วัสดุและทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง ตลอดจนการดูแลรักษาที่เหมาะสมเพื่อคงสภาพที่ดีและรักษามูลค่า เพื่อเสริมทักษะบุคลากรให้มีฝีมือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะหลายด้านมากขึ้น ยกระดับมาตรฐานการบริการรวมถึงเป็นการช่วยอนุรักษ์ศิลปวัตถุล้ำค่าให้คงอยู่สืบไป