COLUMNISTS

เมื่อ AI เป็นทุกอย่างของบ้าน

Avatar photo
รองกรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนากลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร
2118
คอนโด ภาพพลัส291
ภาพจากเฟซบุ๊ก Plus Property

กระแสของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ถูกจุดประกายให้เป็นที่สนใจของคนทั้งโลกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง บนเวที World AI Conference เปิดฉากขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้วันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะการดีเบตหยุดโลกระหว่าง แจ็ค หม่า และ อีลอน มัสก์ ว่าด้วยมุมมองที่มีต่อ AI หุ่นยนต์

การเชื่อมต่อข้อมูลกับสมอง ดาวอังคาร ไปจนถึงอนาคตของมนุษยชาติ ซึ่งทั้งสองก็ได้ถ่ายทอดมุมมองที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากขุมพลังของคอมพิวเตอร์มาช่วยรับมือกับสิ่งท้าทายที่โลกเผชิญ และอีลอน มัสก์ได้กล่าวประโยคหนึ่งที่น่าสนใจไว้ว่า หากสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ไฮเทคกับสมองมนุษย์ ก็จะช่วยในการประมวลผลและเก็บข้อมูลต่างๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด และทิ้งท้ายว่า “จริงๆ แล้วตอนนี้เราก็เป็นไซเบอร์กอยู่แล้ว เพราะเราใช้โทรศัพท์และคอมพิวเตอร์จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”

ซึ่งประโยคนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องไกลเกินจริง เพราะเมื่อเราลองพิจารณาสิ่งที่อยู่รอบตัวเราวันนี้ AI ก็เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของเรามากขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่อาศัยภายในบ้าน

ที่อยู่อาศัยในยุคปัจจุบันผู้พัฒนาโครงการได้เพิ่มฟังก์ชั่นเชื่อมต่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไว้ทั้งในรูปแบบของตัวโครงสร้างอาคารและบริการหลังการขาย โดยเฉพาะ AI ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การควบคุมการก่อสร้าง ไปจนถึงงานด้านบริหารการขาย ที่สามารถช่วยวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อให้นำเสนอสินค้าที่ตรงใจลูกค้ามากที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น AI จะยังเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะสำหรับบ้านในอนาคต ที่ช่วยตรวจตราการล็อคประตูบ้าน แจ้งเตือนกำหนดซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ และแม้กระทั่งแจ้งเตือนว่าคุณกำลังจะออกจากบ้านไปทำงานสายได้อีกด้วย

ซึ่งเรื่องเหล่าแม้จะเกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทยนัก แต่หากพูดถึงโซลูชั่น เช่น Amazon Echo และ Google Home ก็อาจจะทำให้คนไทยคุ้นเคยมากขึ้น เพราะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยหลายรายได้นำมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าโครงการให้กับลูกค้า เช่นการนำไปใช้งานในการออกคำสั่งปิด-เปิด และควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้า ควบคุมอุณหภูมิและแสงสว่าง เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านี้บางโครงการยังได้นำ AI มาช่วยในการยกระดับด้านการรักษาความปลอดภัยของโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น Digital Fence ระบบรั้วอัจฉริยะ ที่สามารถเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุบุกรุกทันที ในส่วนของระบบตรวจบุคคลเข้าออกก็ได้นำ AI มาใช้ เพิ่มความปลอดภัยในการจัดการผู้มาติดต่อ

โดยมีระบบการตรวจจับใบหน้า ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลผู้มาติดต่อในระบบ เมื่อระบบสแกนหน้าก็จะสามารถเรียกดูข้อมูลประวัติการเข้าออก ระบบสามารถตรวจจับใบหน้าและวิเคราะห์ข้อมูลแจ้งเตือนได้ทันที

อย่างไรก็ตาม การใช้ AI เข้ามาช่วยยกระดับความปลอดภัยในที่อยู่อาศัยไม่ได้จำกัดเพียงเท่านี้ แต่ยังได้พัฒนาให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เช่น Smart Command Centre ที่พลัสฯ ได้ร่วมมือกับแสนสิริ ในการนำเทคโนโลยี IoT มาเชื่อมต่อระบบต่างๆ ในโครงการที่พักอาศัยที่พลัสฯ ดูแล เพื่อควบคุม สังเกตการณ์ สถานการณ์ต่างๆ ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง จากโครงการที่อยู่อาศัยหลายๆ โครงการ แล้วรายงานผลมายังศูนย์ควบคุมส่วนกลางด้วยการประมวลผลที่แม่นยำแบบเรียลไทม์ ซึ่งก็รวมถึงการนำ AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเช่นกัน เช่นใช้กล้อง CCTV Analytic เพื่อให้ระบบสามารถตรวจจับภาพเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เหตุการณ์ที่ผิดปกติ เพื่อการประมวลผลอย่างมีประสิทธิภาพที่ตรงจุดมากขึ้นในครั้งต่อๆ ไป เช่น ตรวจจับความเคลื่อนไหวในพื้นที่ส่วนกลาง สามารถวิเคราะห์ได้เป็นความเคลื่อนไหวรูปแบบใด เช่น กิ่งไม้ไหว ความเคลื่อนไหวจากสัตว์ บุคคล ความเคลื่อนไหวที่มีรูปแบบผิดปกติ เช่น การรุกล้ำในแนวรั้ว ซึ่งการแจ้งเตือนมาที่ศูนย์กลางนั้นจะทำให้สามารถบริหารความปลอดภัยจากหลายๆโครงการในเวลาพร้อมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันและควบคุมสถานการณ์ก่อนที่จะบานปลายจนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้

แม้ในปัจจุบันเทคโนโลยี AI จะยังไม่ได้พัฒนาไปถึงขั้นสุด แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ถือว่าเข้ามาสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆให้กับวงการที่อยู่อาศัยอย่างน่าตื่นเต้น ซึ่ง AI ไม่ได้ช่วยด้านอำนวยความสะดวกและด้านระบบรักษาความปลอดภัยเท่านั้น

ล่าสุดยังมีที่อยู่อาศัยหลายโครงการนำเอา AI ไปใช้ในการบริหารจัดการระบบวิศวกรรมภายในอาคาร สังเกตการณ์และวิเคราะห์ข้อมูลส่วนกลางได้ตั้งแต่ ระบบปั๊มน้ำ ระบบปั๊มน้ำเสริมแรงดัน ตู้จ่ายกำลังไฟฟ้า เครื่องสำรองไฟฉุกเฉิน ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบลิฟท์ ระบบแจ้งสัญญาณเตือนไฟไหม้ ระบบดับเพลิง ระบบไฟฟ้าแรงสูง ปั๊มระบายน้ำทิ้ง ถ้าหากสิ่งเหล่านี้มีสิ่งผิดปกติหรือพบปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้มีการชำรุดเกิดขึ้น หรือครบกำหนดเวลาเปลี่ยนอุปกรณ์ตามอายุการใช้งาน AI ก็จะวิเคราะห์ประมวลผลและแจ้งเตือนทันที

นอกจากนี้ ยังสามารถเก็บข้อมูลสถานะและประวัติการทำงานของระบบต่างๆ ทำให้สามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังและประมวลผลการซ่อมบำรุงได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่ผู้ใช้งานจะละเลยเพราะไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน

ดังนั้นการเข้ามาของ AI จึงช่วยให้การดูแลที่อยู่อาศัยมีความครบถ้วนรอบด้านมากขึ้นจะช่วยลดความเสียหายให้กับตัวอาคารและผู้อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อคนเราหมดความกังวลในด้านที่อยู่อาศัยแล้วก็จะทำให้มีเวลาในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีออกมาสู่โลกเรามากขึ้นค่ะ