COLUMNISTS

สงครามการค้ายังหลอนไม่หยุด

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
396

หลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัปดาห์ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาเตือนคนไทยให้ระมัดระวังสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมากขึ้น และเรียกร้องให้ช่วยกันติดตาม พร้อมกับย้ำว่า ทุกประเทศมีปัญหา(เศรษฐกิจ) ทุกภูมิภาคปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจลง จากผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการลงทุนต่างๆ ก่อนยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถพยุงได้

ท่าทีของนายกฯมีขึ้นหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกมาทวีตข้อความทำนองว่า จะปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ จาก 10 % เป็น 25 % ภายในวันศุกร์นี้ (10 พ.ค.) หลังกดดันจีนที่ตั้งโต๊ะเจรจาการค้ากันมาหลายรอบและยังไม่ได้ผลดั่งใจ

000 1DD28U
โดนัลด์ ทรัมป์

ผลจากสงครามการค้า จีน –สหรัฐ เป็นโจทย์ใหญ่เศรษฐกิจโลกต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว นับแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ ออกมาประกาศโผงผางว่าจะจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้า จากจีนเพิ่มตั้งแต่ปลายปี 2561 นับจากนั้นตลอดช่วงปีเศษๆ สถานการณ์มีทั้งตึงเครียด และผ่อนคลาย ตามจังหวะผลการเจรจา และ อารมณ์ของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ต้องการจบการเจรจากับจีนด้วยข้อตกลงแบบเอาตัวรอดฝ่ายเดียว

ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ออกมาแถลงการค้าส่งออกไตรมาสแรกว่า ติดลบ 1.64 % โดยการส่งออกมีมูลค่า รวม 61,987.8 ล้านดอลลาร์ เฉพาะ มีนาคมเดือนเดียว ตัวเลขส่งออกไทยหายไป 4.88 % มากกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เอาไว้ว่าจะหดตัวระหว่าง 3.3-4.0 %

เมื่อการค้าส่งออกโค้งแรกลบมากกว่าที่คิด ตัวเลขคาดการณ์ทั้งปีก็สะเทือน กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า ส่งออกปีนี้ (2562) คงขยายตัวได้ราว 3-6 % จากเดิมที่ตั้งเป้าว่าจะโตถึง 8 % ตัวเลขส่งออกที่ ไม่เป็นไปอย่างที่ทุกๆฝ่ายหวัง ส่งแรงกระแทกไปยังเศรษฐกิจภาพรวมโดยตรงๆ

หลังกระทรวงพาณิชย์ออกมาแถลงตัวเลขส่งออกไตรมาสแรกได้ไม่นาน ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหาภาพ แบงก์ชาติ ออกมาแถลงว่า ผลจากการส่งออกไตรมาสแรกที่ขยายตัวไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้เศรษฐกิจทั้งปีมีโอกาสที่จะขยายตัวไม่เป็นตามเป้าที่แบงก์ชาติคาดการณ์ไว้เดิม คือ เติบโต 3.8 %

ทั้งนี้ทั้งนั้นภาพเศรษฐกิจข้างต้น ตั้งอยู่บนความหวังว่า ศึกการค้าจีน – สหรัฐจะจบลงด้วยดี ไม่ใช่ประธานาธิบดีสหรัฐออกมาทวีตขู่ฟ่อๆ ว่า จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน จนสร้างความผันผวนรอบใหม่ให้กับเศรษฐกิจโลก

แม้ตัวเลขจีดีพีจะกร่อนไปบ้างตามแรงกระแทกจากสงครามการค้า แต่เศรษฐกิจไทยยังมีภูมิคุ้มกันเหมือนที่นายกฯกล่าวว่า สถานการณ์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่พยุงได้

ที่ผ่านๆ มา ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ออกมายืนยันบ่อยครั้งว่า “เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็ง” จากชุดจุดแข็ง สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีต่ำกว่าหลายประเทศ ทุนสำรองระหว่างประเทศมากพอรับมือคลื่นเศรษฐกิจการเงิน หนี้สาธารณะต่ำกว่าหลายประเทศ เป็นต้น

สถานะทางเศรษฐกิจดังกล่าวเปรียบเหมือนประเทศไทยมีกันชน ลดความรุนแรงจากคลื่นเศรษฐกิจ ที่มาจากภายนอกลงได้บ้าง

คงต้องทำใจยอมรับว่า ความไม่แน่นอน คือเรื่องปกติของเศรษฐกิจยุคนี้ และภาวะปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ จากปัจจัยภายนอก เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ และการคาดเดายากยิ่งในสมัยที่ข้อมูลข่าวสาร ไปทั่วถึงและเร็วเท่ากัน กรณีหุ้นทั่วโลกตกลงโดยพร้อมเพรียงกัน เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ ออกทวีตข่าวร้ายใส่โลกคือ ตัวอย่างหนึ่ง

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ไทยเผชิญกับคลื่นเศรษฐกิจจากภายนอก การลดความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจไทย กับเศรษฐกิจโลก เพิ่มการบริโภคในประเทศ และภูมิภาค สร้างความสมดุลระหว่างการพึ่งพาจากภายนอกและภายใน เป็นหัวข้อที่ถูกกล่าวถึงเสมอๆ แต่ความคิดไม่เคยขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง ทั้งที่เป็นหนทางสามารถ เพิ่มภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจได้

มองความผันทางเศรษฐกิจปัจจุบันแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลใหม่ที่จะปรากฏตัวใน เร็วๆ นี้คงคิดถึงวิธีรับมือกับคลื่นเศรษฐกิจตามแนวคิดข้างต้น นอกเหนือจากทุ่มงบประมาณ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือภาวนาให้สถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวงจบลงด้วยดี เหมือนกรณีศึกการค้า จีน -สหรัฐ ที่หลอนโลก ต่อเนื่องมากว่าปีแล้ว