COLUMNISTS

สนช.ควรยุติออกกฎหมายได้แล้ว !!!

Avatar photo
1040

ตลอดระยะเวลาเกือบห้าปีที่ผ่านมา สนช.หนึ่งในแม่น้ำห้าสาย ที่เป็นกลไกในการผลิตกฎหมายให้กับคสช. ทำคลอดกฎหมายมีผลใช้บังคับไปแล้ว 329 ฉบับ อยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา 54 ฉบับ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสนช.อีก 84 ฉบับ โดยมี 51 ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาวาระ 3 เรียกว่าใกล้คลอดเต็มแก่

รวมเบ็ดเสร็จ ถ้า สนช.เร่งรัดผลักดันพิจารณาให้ร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ทั้งหมดแล้วเสร็จโดยไม่รอรัฐสภาหลังการเลือกตั้ง ก็จะทำให้ สนช.ชุดนี้ผลิตกฎหมายมากถึง 413 ฉบับ

มีเสียงคุยโวมาจากฟากฝั่ง สนช.ว่า ปริมาณกฎหมายที่ออกมามากคือผลงาน แต่ในความเป็นจริงเหตุผลที่ทำให้กฎหมายผ่านความเห็นชอบของ สนช.มากกว่ารัฐสภาในภาวะปกติ เป็นเพราะ ไร้การถ่วงดุล ไม่มีการตรวจสอบจากฝ่ายค้าน ทุกอย่างจึงผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการขาดความมีส่วนร่วมโดย เฉพาะจากภาคประชาชน แม้จะอ้างว่ามีมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญบังคับร่างกฎหมายทุกฉบับต้องรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน

แต่ในทางปฏิบัติคือเอาขึ้นเว็บไซต์ 15 วัน ซึ่งยากมากที่ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง อีกทั้งแม้ว่าจะมีส่วนร่วมแต่สุดท้ายหน้าตาของกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของสนช.ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปจากที่เปิดให้ประชาชนศึกษาอีกด้วย จึงทำให้กฎหมายในมือของ สนช.หลายฉบับถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย

ยกตัวอย่างร่าง พ.ร.บ.ข้าวที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะมาตรา 27/1 วรรค 3 บัญญัติว่า การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวจะจำหน่ายได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวรับรองแล้วเท่านั้น

แม้จะมีข้อยกเว้นให้ชาวนาจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับการรับรองให้แก่ผู้รวบรวมพันธุ์ข้าว แต่ผู้รวบรวมพันธุ์ข้าวไม่สามารถนำไปขายต่อได้ หากนำไปขายต่อก็ติดคุก ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายออกมาคัดค้านว่า เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการค้าขายของประชาชน รวมไปถึงยังปิดกั้นประบวนการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วย แต่ สนช.ก็ไม่นำพายังเดินหน้าพิจารณาต่อ

ไม่แตกต่างจากร่างกฎหมายอื่น ๆ ที่เคยถูกทักท้วงมาก่อนหน้านี้ เช่น ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ-ป่าชุมชน ที่แม้แต่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ยังร่อนหนังสือคัดค้านไปยัง สนช. เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และไร้หลักประกันเรื่องสิทธิของบุคคลหรือชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ป่า แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจาก สนช.เช่นเดียวกัน

ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังเคลื่อนไปสู่การเลือกตั้ง เหลือเวลาอีกเพียงเดือนเศษประชาชนก็จะตัดสินว่าจะให้ใครเข้าไปบริหารประเทศ สนช.ซึ่งมีที่มาจาก คสช. ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน ควรยุติบทบาท เลิกพิจารณากฎหมาย ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาหลังการเลือกตั้งได้แล้ว