Marketing Trends

ความท้าทายธุรกิจ ‘โฮสเทล’ แนะกลยุทธ์ปรับตัว ชนะใจนักท่องเที่ยว

ภายใน 10 ปีผ่านมาที่พักประเภทโฮลเทล เติบโตอย่างรวดเร็ว และเข้ามามีบทบาทที่สำคัญของการท่องเที่ยวไทยมากขึ้น เพื่อรองรับโครงสร้างนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวของชาวมิลเลนเนียล แต่จากการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ผู้ประกอบการโฮสเทล ต้องเผชิญความท้าทายหลายมิติที่ต้องปรับตัว

โฮสเทล

ในปี 2561 ประเทศไทยรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 38.3 ล้านคน หนึ่งในปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากนักท่องเที่ยวในช่วงอายุ 25 ถึง 34 ปี จากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คิดเป็นกว่า 28% ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามายังประเทศไทย มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 12.5% ตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2560 ขณะที่กลุ่มอายุอื่นอยู่ที่ 9%

คนยุคมิลเลนเนียล หรือผู้ที่เกิดช่วงปี 2524 ถึง 2539 กำลังกลายเป็นผู้บริโภคหลักในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของไทย พฤติกรรมสำคัญของกลุ่มนี้ คือการนำ “การท่องเที่ยว” มาเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในการใช้ชีวิต ทั้งยังให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน รวมถึงมีพฤติกรรมการเลือกเข้าพัก Hostel มากกว่ากลุ่มอื่น

จากการสำรวจโดย Hostelworld group ผู้ให้บริการจอง โฮสเทล ออนไลน์อันดับ 1 ระบุว่า ผู้เข้าพักโฮสเทลl มากกว่า 70% เป็นชาวมิลเลนเนียล โดยลัษณะสำคัญ 3 ประการ ของชาวมิลเลนเนียล ที่สนับสนุนให้ธุรกิจโฮสเทล เติบโตได้แก่

นักท่องเที่ยว

1. นิยมท่องเที่ยวตามชุมชน เพื่อมองหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่ แสวงหาความท้าทาย โดยผลการวิจัยพบว่าจากนักท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิกกว่า 7,000 คนใน 14 ประเทศระบุว่า ชาวมิลเลนเนียล ให้ความสำคัญกับคำแนะนำเกี่ยวกับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ตามชุมชน มากกว่าคำแนะนำเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ซึ่งตรงกับตำแหน่งทางการตลาดของโฮลเทล ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ ที่นำที่พัก / บ้าน / ตึกแถวมาปรับปรุงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวตามชุมชน

2. นักท่องเที่ยวชาวมิลเลนเนียล ชอบท่องเที่ยวคนเดียวมากกว่าการท่องเที่ยวกับกรุ๊ปทัวร์ อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ความสะดวกสบายในการเดินทาง

3. ชาวมิลเลนเนียล ชอบเที่ยวบ่อย โดยผลการศึกษาพบว่า นักเที่ยวมิลเลนเนียล เดินทางไปเที่ยวบ่อยที่สุดอยู่ที่ประมาณ 6 ครั้งต่อปี ขณะที่ชาวเบบี้ บูมเมอร์ เดินทางท่องเที่ยวประมาณ 4 ครั้งต่อปี นอกจากนี้ยังพบว่า ชาวมิลเลนเนียล ใช้จ่ายในค่าที่พัก น้อยกว่าครึ่งของชาวเบบี้ บูมเมอร์ โฮสเทล จึงเป็นตัวเลือกสำคัญของที่พักราคาถูก ตอบสนองความต้องการของชาวมิลเลนเนียล ที่เดินทางท่องเที่ยวบ่อย แต่มีงบจำกัด

สัดส่วนโฮสเทล

EIC ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลบน ทริปแอดไวเซอร์ พบว่า 9 จังหวัดที่มีจำนวนโฮสเทลมากที่สุด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, สุราษฎร์ธานี, เชียงใหม่, กระบี่, ภูเก็ต, ชลบุรี, เชียงราย, ประจวบคีรีขันธ์(หัวหิน) และแม่ฮ่องสอน ตามลำดับ โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนโฮลเทล ต่อจำนวนที่พักทั้งหมดมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ คิดเป็น 17% จากที่พักทั้งหมดกว่า 3,000 แห่ง รองลงมาคือ เชียงใหม่ (12%) และสุราษฎร์ธานี (9%) ตามลำดับ

เมื่อการแข่งขันรุนแรงขึ้น ธุรกิจโฮลเทลจึงต้องปรับตัว โดย EIC มองว่าผู้ประกอบการ โฮลเทลสามารถทำได้คือ

1. ต้องมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน สำหรับโฮลเทลที่มีจำนวนห้องและงบประมาณในการดำเนินกิจการที่จำกัด จึงทำให้การทำทำได้ในวงแคบ การมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนจะสามารถทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจได้ หากสามารถหาจุดยืนที่ชัดเจนและเข้าใจความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มแล้ว ผู้ประกอบการจะสามารถวางแผนการตลาด และเจาะกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงจุดในงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

2. ประสบการณ์การเข้าพักของนักท่องเที่ยวคือ ปัจจัยหลักของธุรกิจโฮสเทล ดังนั้นการสื่อสารกับผู้เข้าพักจึงนับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุด การสื่อสารสามารถทำได้ผ่านพนักงาน ซึ่งต้องสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวความคิด วัฒนธรรม พื้นฐานสังคมได้อย่างดี รวมถึงการบริการที่เป็นกันเอง ความเอาใจใส่ และความเข้าใจถึงความต้องการของผู้เข้าพัก นอกจากนี้การสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับชุมชน โดยสื่อสารผ่าน การตกแต่ง การบอกเล่า หรือการทำให้สิ่งแวดล้อมมีความเป็นชุมชน เช่น การจัดกิจกรรม หรือ Workshop ต่าง ๆ ร่วมกับชุมชน เป็นต้น

ราคาที่พัก

3. ทำให้เกิดการบอกต่อ ด้วยการกระตุ้นให้ผู้เข้าพักบอกต่อความรู้สึกดี ๆ และประสบการณ์ระหว่างเข้าพัก ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลและวิจัยโดย SiteMinder พบว่าเมื่อที่พักขอร้องให้ช่วยแสดงความคิดเห็น ผู้เข้าพักกว่า 80% ยินดีที่จะเขียนรีวิวให้กับที่พัก หากที่พักไม่ขอร้องจะมีเพียง 22% เท่านั้นที่จะแสดงความคิดเห็นหลังการเข้าพักด้วยตนเอง

นอกจากนี้ การบอกต่อประสบการณ์นั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การบอกเล่ากับนักท่องเที่ยวอื่น การเขียนรีวิวบน เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ของนักท่องเที่ยวเอง ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากธุรกิจโรงแรมที่มุ่งเน้นการรีวิวบนแพลตฟอร์ม OTAs (Online Travel Agents) เนื่องจากกลุ่มลูกค้าค่อนข้างกระจาย ไม่เฉพาะกลุ่ม กลับกันธรรมชาติของผู้เข้าพัก โฮลเทล มักสอบถามจากผู้มีประสบการณ์การเดินทาง การพูดคุยหรืออ่านรีวิวในกลุ่มที่มีความชื่นชอบคล้าย ๆ กันมากกว่า

สุดท้ายคือ การเพิ่มยอดจองโดยตรงกับทางโฮสเทล ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อผ่านทางไลน์ เฟซบุ๊กแชท โทรศัพท์ อีเมล เว็บไซต์ของโรงแรม และอื่น ๆ นับเป็นช่องทางการจองโดยไม่ผ่านตัวกลาง ทำให้ที่พักไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านคอมมิชชั่นที่ค่อนข้างสูงให้กับ OTAs เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายมีค่าใช้จ่ายไม่มากนัก เพียงทำให้การจองนั้นสามารถจ่ายเงินได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยอาจต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจในการทำตลาดบนโซเชียลมีเดียเพิ่มเติม

Avatar photo