Economics

‘วีระพล’ เปิดสาเหตุ ทำไมค่าไฟแพง!?

“วีระพล” เปิดสาเหตุ “ทำไมค่าไฟแพง” แนะประชาชนใช้หลัก “4 ป.” ประหยัดพลังงาน ช่วยลดค่าไฟได้

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน อดีตกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ให้สัมภาษณ์ใน รายการ SMART ENERGY ทาง ททบ. 5 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 ระบุว่า ปัจจุบันประชาชนต้องเผชิญกับวิกฤติค่าไฟฟ้า ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ค่าไฟแพง

จะเห็นได้ว่าปี 2565 ค่าไฟที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น มีสาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนเชื้อเพลิง เนื่องจากปัจจัยแรกคือ ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งถือเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักของไทย ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของสัญญาสัมปทานจากบริษัทเอกชน มาเป็นปตท.สผ. ส่งผลให้ก๊าซในอ่าวไทยลดลงกว่าที่ควรจะเป็น

อีกปัจจัยหนึ่งคือ ก๊าซที่นำเข้าจากพม่า มีปริมาณลดลงกว่าแผนที่เคยคาดการณ์ไว้ ดังนั้น จึงส่งผลให้ต้องนำเข้า LNG ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากเดิมปริมาณการนำเข้า LNG จะอยู่ที่ 6-8% แต่ปัจจุบันไทยต้องนำเข้า LNG เพิ่มมากขึ้นถึง 20%

ปัญหาของการนำเข้า LNG ในปริมาณที่สูงขึ้นนั้น คือ จะต้องแบกรับราคา LNG ที่แพงกว่าราคาก๊าซในอ่าวไทย โดย LNG เริ่มมีราคาสูงขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ผนวกกับภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งทำให้ราคา LNG ทั่วโลกสูงขึ้น โดยจากปี 2564 ที่เฉลี่ยราคา LNG จะอยู่ที่ประมาณ 10 USD/MMBtu แต่ช่วงต้นปี 2565 ขยับขึ้นมาถึง 30 – 50 USD/MMBtu และค่อย ๆ ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 20-30 USD/MMBtu ซึ่งยังเป็นราคาที่สูงอยู่ดี

นอกจากจะต้องนำเข้า LNG มากขึ้น ในราคาที่สูงขึ้นตามสถานการณ์โลกแล้ว ยังมีเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย จากที่ตอนกลางปี อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ แต่ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ส่งผลต่อค่าไฟ ที่จะต้องปรับขึ้นประมาณ 5-6 สตางค์

เพราะฉะนั้นสาเหตุที่แท้จริงของค่าไฟแพง คือ

  1. ต้องนำเข้า LNG ในปริมาณมากขึ้น เพราะก๊าซในอ่าวไทยน้อยลง
  2. ราคา LNG สูง บวกกับอัตราแลกเปลี่ยน ที่เงินบาทอ่อนค่าลงค่อนข้างเยอะ

ในขณะที่ต้นทุน LNG ที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้น รัฐจึงให้โรงไฟฟ้าหลายโรงเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา แทนการใช้ LNG แต่ก็สามารถทำได้แค่บางโรงไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งช่วยลดภาระในการนำเข้า LNG ได้ และช่วยลดค่าไฟได้ในระดับหนึ่ง

ค่าไฟแพง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ก๊าซในอ่าวไทยจะอิงกับราคาน้ำมันเตาย้อนหลังประมาณ 1 ปี เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ราคาก๊าซอ่าวต้นปี 2566 ก็จะอิงจากราคาน้ำมันเมื่อต้นปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่มีราคาสูง ส่งผลให้ราคารับก๊าซจากอ่าวไทย ก็จะสูงขึ้นกว่าของต้นปี 2565 และอีกประเด็นหนึ่งคือราคา LNG ค่อนข้างมีความผันผวนสูง ทำให้ปีหน้าราคาค่าไฟฟ้าก็ยังเป็นขาขึ้นอยู่

หลายประเทศทั่วโลกที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ กำลังเผชิญวิกฤติพลังงานเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ของไทยมีกลไกกำหนดราคา เป็นกลไกตลาด เพราะฉะนั้นบ้านเรายังถือว่าไม่วิกฤติมาก แต่จะเริ่มเป็นหนี้เยอะมากขึ้น

ในส่วนของค่าไฟฟ้า กฟผ.เองก็ช่วยตรึงไว้อยู่ที่ประมาณเกือบแสนล้านบาท ซึ่งการลดภาระค่าไฟที่ดีที่สุดคือ การที่ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดไฟฟ้า จะช่วยให้ประเทศไม่ต้องเสียเงินนำเข้าเชื้อเพลิงในราคาแพง และไม่ต้องขาดดุลการค้ามากขึ้นไปเรื่อย ๆ

วิธีที่จะช่วยประหยัดพลังงาน และช่วยลดค่าไฟได้อย่างง่ายที่สุด คือ หลัก 4 ป. ประหยัดพลังงาน ประกอบด้วย

1. ปิด คือ ปิดไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น เช่น ออกจากห้องก็ปิดไฟ ไม่เปิดไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น

2. ปรับ คือ ปรับอุณหภูมิเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่กินไฟมากที่สุดก็คือเครื่องปรับอากาศ สมัยก่อนรณรงค์ให้ปรับเป็น 25 องศา แต่ตอนนี้หากปรับเพิ่มเป็น 26 องศา จะช่วยประหยัดค่าไฟได้อีกประมาณ 10%

3. ปลด คือ ปลดปลั๊กไฟต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้ อย่างเช่น ทีวีต้องถอดปลั๊กเลย การปิดด้วยรีโมทก็ยังกินไฟอยู่ โดยเฉพาะเครื่องทำน้ำอุ่น ซึ่งกินไฟเยอะมาก ก็ต้องปิดเมื่อไม่ได้ใช้งาน

4. เปลี่ยน คือ เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น ถ้าเปลี่ยนหลอดไฟ จากหลอดธรรมดา มาเป็นหลอด LED จะช่วยประหยัดได้ถึง 85% เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศเป็นเครื่องเบอร์ 5 จะประหยัดได้ 25-30%

ดังนั้น หลักการ 4 ป. เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ทุกคนควรจะเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ แล้วจะช่วยประเทศชาติได้อย่างแท้จริง เพราะ การที่ใช้ไฟฟ้าน้อยลง ก็หมายความว่าจะเดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้าน้อยลง ก็จะไม่ต้องเพิ่มปริมาณการนำเข้า LNG ที่มีราคาสูงมาก ค่าไฟก็จะถูกลงด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo