Economics

มาแน่! รถไฟฟ้าสาย ‘สีเหลือง-ชมพู’ เปิดบริการเต็มรูปแบบ ปี 66 เชื่อมต่อกว่า 163 เส้นทาง

รถไฟฟ้ามาหาถึงชานบ้าน “เหลือง-ชมพู” ให้บริการแน่ ปีหน้าเต็มรูปแบบ พร้อมปรับรถเมล์รองรับรถไฟฟ้า อำนวยความสะดวกประชาชน เชื่อมต่อกว่า 163 เส้นทาง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู มีความคืบหน้าอย่างมาก จึงได้กำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการ และการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการในด้านต่าง ๆ ทั้งในส่วนของการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งอื่น การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม การขอพระราชทานนามแนวเส้นทาง และการสื่อสารสาธารณะ

รถไฟฟ้า

สำหรับความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) การก่อสร้างคืบหน้า 96.79% ได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 29 ขบวน จากทั้งหมด 30 ขบวนส่วนสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) คืบหน้า 92.28% ได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 34 ขบวน จากทั้งหมด 42 ขบวน ทั้ง 2 เส้นทางมีแผนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2566

ปัจจุบัน หน่วยงานเกี่ยวข้องอยู่ระหว่างจัดทำ Proof of Safety เพื่อตรวจสอบ และประเมินความพร้อมของงานโยธา และงานระบบไฟฟ้าทั้งหมดของโครงการ ก่อนที่วิศวกรอิสระ (ICE) จะออกหนังสือรับรองความปลอดภัย เพื่อเปิดให้บริการให้แก่ประชาชนต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงแนวทางการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทาง เพื่อรองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู

ก่อนการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จำนวน 59 เส้นทาง ได้ปรับเพิ่มเป็น 81 เส้นทาง และสายสีชมพู เดิมมีรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อ จำนวน 50 เส้นทาง ได้ปรับเพิ่มเป็น 82 เส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกการเชื่อมต่อการเดินทาง
ให้แก่ประชาชน

นายศักดิ์สยาม ยังสั่งการให้คณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ ดำเนินการดังนี้

1. คณะอนุกรรมการด้านการเดินรถ การเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่ง และการประเมินคุณภาพ ให้ประสานผู้รับสัมปทานก่อสร้าง เพื่อกำกับ และติดตามการดำเนินการก่อสร้างให้ปลอดภัยสูงสุด จัดการจราจรให้มีผลกระทบต่อการเดินทางประชาชนน้อยที่สุด เช่น การคืนพื้นที่ผิวจราจรจากการก่อสร้าง และให้ทดลองเดินรถเสมือนจริงโดยไม่เก็บค่าโดยสาร ศึกษารูปแบบจากรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง

รวมถึง ให้ตรวจสอบการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสาย และการเดินทางสาธารณะรูปแบบอื่น ๆ ให้มีความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการ เช่น ทางเดินที่มีหลังคา

รถไฟฟ้า

2. คณะอนุกรรมการด้านราคาค่าโดยสาร และบัตรโดยสาร ให้พิจารณารูปแบบการคิดคำนวณค่าโดยสาร โดยเปรียบเทียบกับวิธีการของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และการใช้บัตรโดยสารร่วม

ประสานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะ เพื่อเร่งรัดประชาสัมพันธ์บัตรโดยสารแก่ประชาชน

3. คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะ ให้ประชาสัมพันธ์เชิงรุกในทุกช่องทาง และ ต่อเนื่อง

4. คณะอนุกรรมการด้านการเตรียมการ ขอพระราชทานนามแนวเส้นทางโครงการ ให้ดำเนินการขอพระราชทานนามสำหรับทั้ง 2 โครงการ และพิจารณาขอพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ สำหรับประดิษฐานบริเวณอาคาร หรือสถานีของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู

โดยปฏิบัติตามขั้นตอน และระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเตรียมความพร้อมในการติดตั้งป้ายชื่อสถานี เมื่อได้รับพระราชทานชื่อแนวเส้นทาง

รถไฟฟ้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo