Economics

หุ้นแบงก์กำไรพุ่งสุดในรอบ 5 ปี ตัวไหนแรงสุด เช็คด่วน!!

เข้าสู่การลงทุนในเดือนแรกของปี 2562 ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์หลักทรัพย์และผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์กันว่าในช่วงต้นปีตลาดหุ้นไทยน่าจะกลับมาคึกคักได้อีกครั้งและยังคงมีความหวังว่าดัชนีหุ้นไทยน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าลดลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเดือนมกราคมของทุกปีกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินจะรายงานกำไรงวดไตรมาส 4 ของปี 2561

จากการสำรวจความคิดเห็นของโบรกเกอร์พบว่า ส่วนใหญ่คาดการณ์กำไรแบงก์ในไตรมาส 4 ของปี 2561 จะเติบโตประมาณ 17-23% ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตในระดับสูง ส่วนสาเหตุที่กำไรเติบโตได้ดีเนื่องจากการตั้งสำรองลดลง แต่หากเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2561 ส่วนมากเชื่อว่ากำไรจะลดลง เนื่องจากไม่มีกำไรจากรายการพิเศษ

เมื่อกำไรไตรมาส 4 ปี 2561 เติบโตดีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ภาพรวมกำไรปี 2561 เพิ่มขึ้นสูงถึง 12.6% และถือว่าเป็นกำไรสูงสุดในรอบ 5 ปี อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความสามารถในการทำกำไรในปี 2562 น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ เพราะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นได้อีก

คาดการณ์กำไรกลุ่มแบงก์

บล.ยูโอบีเคย์เฮียน (ประเทศไทย) คาดว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ของปี 2561 ของกลุ่มธนาคาพาณิชย์จะมีกำไรเพิ่มขึ้น 22% จากงวดเดียวกันปีก่อน  แต่ลดลง 7.8%จากงวดไตรมาส 3 ของปี 2561 โดย KTB และ KBANK คาดว่าจะรายงานกำไรเติบโตแข็งแกร่งที่สุด ทั้งนี้ หุ้นเด่นที่เลือกในกลุ่มได้แก่หุ้น BBL, KBANK และ SCB ตามลำดับ

บล.ฟินันเซียไซรัส ประเมินว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะมีกำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 2561ของกลุ่มอยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 10.8% จากไตรมาส 3 ปี 2561 แต่เพิ่มขึ้น 18% จากงวดเดียวกันของปีกอ่น แต่กำไรที่คาดว่าจะลดลงจากงวดไตรมาส 3 ปี 2561 เกิดจากกำไรจากการขายเงินลงทุนที่ลดลง (TMB ขาย TMBAM) หากไม่นับรายการดังกล่าว คาดว่ากำไรปกติจะลดลงราว 5% จากไตรมาส 3 ปี 2561 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล

ส่วนกำไรที่ดีขึ้นจากงวดไตรมาส 4 ปี 2560 เกิดจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญที่ลดลงตามคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในธนาคารขนาดใหญ่ เราคาดว่ากำไรสุทธิของ KTB และ BBL จะโตได้ทั้งงวดไตรมาส 3 ปี 2561 และไตรมาส 4 ปี 2560

ทั้งนี้ หากกำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 2561เป็นไปตามที่คาดจะทำให้กำไรสุทธิปี 2561 ของกลุ่มอยู่ที่ 2.07 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 12.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 โตดีสุดในรอบ 5 ปี เราเห็นแนวโน้มที่ดีของรายได้ดอกเบี้ยรับ และการควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น แต่ได้รับแรงกดดันจากรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่ชะลอตัวลง ธนาคารที่คาดว่าจะมีการเติบโตของกำไรดีที่สุดในปี 2561 คือ KTB

ด้าน บล.เอเซียพลัส ระบุว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์ คาดว่ากำไรสุทธิรวมของ 10 แห่งที่ฝ่ายวิจัยศึกษาจะอยู่ที่ 4.58 หมื่นล้านบาท หดตัว 16.6% จากไตรมาส3ปี 2561 แต่เพิ่มขึ้น 10.2%จากงวดเดียวกันปีก่อน แม้คาดรายได้ดอกเบี้ย รับสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมฯ จะเติบโตสูงขึ้นในช่วงฤดูกาล แต่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานก็เพิ่มสูงขึ้นตามฤดูกาลเช่นกัน อีกทั้ง ไม่มีการบันทึกรายได้พิเศษของ TMB ในงวดนี้ โดยคาดว่า KKP จะมีกำไรสุทธิเติบโต 44.3%จากงวดเดียวกันปีก่อนสูงสุดในกลุ่มฯ ซึ่งมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมฯ IPO 3 ดีลใหญ่ ตามด้วย KTB เติบโต 34.4%จากงวดเดียวกันปีก่อน และ KBANK 21.3% ส่วน TMB หดตัว 18.7%จากงวดเดียวกันปีก่อน

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากที่ยังไม่มีธนาคารใดนำร่องปรับขึ้นหลังจาก กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 1.75% แต่ก็มีหลายแห่งทยอยปรับขึ้นไปบ้างตั้งแต่ต้นปี 2561 โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาว/เงินกู้ที่ต่ำเกินไปขึ้นมาอยู่ในระดับปกติ ทั้งนี้เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะทยอยปรับขึ้นในปี 2562 โดยทุกๆ 0.25% ของการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้กำไรสุทธิปี 2562 ของกลุ่มฯ เพิ่มขึ้น 1.0% โดย KTB กำไรเพิ่มขึ้นสูงสุด 3.70% ตามด้วย BBL 3.01% และ KBANK 1.58%

โดยรวมจึงยังคงคงน้ำหนักการลงทุนเท่ากับตลาด คาดกำไรสุทธิปี 2561 เติบโต 9.9%จากงวดเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องปี 2562 ที่เติบโต 5.1%จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเชื่อว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นและทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เข้าสู่ขาขึ้นจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อทิศทางการเติบโตของสินเชื่อและผลการ

กำไรกลุ่มแบงก์5 ปีย้อนหลัง 01

ขณะที่ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) แนะนำให้น้ำหนักลงทุนหุ้นแบงก์มากกว่าตลาด เนื่องจากคาดว่า กำไรสุทธิรวมในไตรมาส 4 ของปี 2561 ของกลุ่มธนาคารจะอยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 23%จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 9% จากงวดไตรมาส 3 ปี 2561 โดยการเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อน มาจากการกลับมาตั้งสำรองฯที่ระดับปกติ

กำไรสุทธิลดลงจากงวดไตรมาส 3 ปี 2561 เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงขึ้นตามฤดูกาล และในไตรมาสก่อนมีกำไรจากรายการพิเศษหลายรายการ โดยเราคาดว่า ธนาคารที่จะเติบโตได้ทั้งงวดเดียวกันปีก่อนและไตรมาส 3 ปี 2561 คือ BBL, KKP, KTB และ SCB

ส่วนธนาคารที่ปรับตัวลดลง คือ TCAP และ TMB ด้านสินเชื่อในไตรมาส 4 ปี 2561 เราคาดว่า จะเติบโตได้ที่ 5% จากงวดเดียวกันปีก่อน และ 3% จากไตรมาส 3 ปี 2561 จากสินเชื่อรายใหญ่และสินเชื่อเช่าซื้อ ขณะที่ NPL รวมในไตรมาส 4 ปี 2562 จะอยู่ที่ 3.11% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 3 ปี 2561 ที่ 3.13% ทั้งนี้ เรายังคงให้น้ำหนักการลงทุนเป็นมากกว่าตลาด จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ซึ่งคาดว่า จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นอีก 2 ครั้ง ในปีนี้

สอดคล้องกับ บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาด ซึ่งมี 4 เหตุผลที่เรามีมุมมอง มากกว่าตลาดต่อแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2561 ของกลุ่มธนาคาร คาดกำไรกลุ่มฯ โตเด่น 17.4% จากงวดเดียวกันปีก่อน จากค่าใช้จ่ายสำรองลดลง แต่หดตัวไตรมาส 3 ปี 2561 เพราะ ไม่มีกำไรพิเศษ และ Opex สูงตามปัจจัยฤดูกาล โดย KKP เด่น เพราะคาดเป็นธนาคารแห่งเดียวที่กำไรเติบทั้งงวดเดียวกันปีก่อนและไตรมาส3 ปี 2561

ขณะที่ ปี 2562 คาดธนาคารขนาดใหญ่เด่น จากสินเชื่อภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น, NIM ได้แรงหนุนจากดอกเบี้ยขาขึ้น และ Cost to income ratio ผ่านพ้นจุดสูงสุดแล้วในไตรมาส4ปี 2561 และ เลือก SCB และ BBL เป็น Top pickของกลุ่ม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight