Economics

ต้องเท่าทัน !! พีดีพี 2018  

หลังจากร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพี (Power Development Plan : PDP) ของประเทศไทย ได้ผ่านเวทีรับฟังความเห็น 4 ครั้งในภูมิภาคต่างๆ และปิดฉากเวทีกรุงเทพไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา ร่างแผนนี้เข้าสู่วาระของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม และจะขออนุมัติในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 7 มกราคม 2562

5 คำถามโยนสังคมคิด

ท่ามกลางการเดินหน้ากระบวนการต่างๆอย่างรวดเร็ว หลายประเด็นยังคลางแคลงใจของกลุ่มที่ติดตามเรื่องพีดีพีมาตลอด ศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ นำเสนอประเด็นที่สังคมควรจับตา 5 เรื่องดังนี้

  1. การพยากรณ์มากเกินไป
  2. ปรับลดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน
  3. พลังงานหมุนเวียนเข้าแผนช้าเกินไป และต่ำเกินไป
  4. เน้นความมั่นคงไฟฟ้า เพื่อเป้าประสงค์อื่น
  5. แยกวิเคราะห์รายภาค แต่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน

223725

ศุภกิจ ให้คำตอบว่า ประเมินแล้ว คำตอบของประเด็นทั้งหมด ก็เพื่อให้มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งใหม่ในปี 2566 และต้องการเปิดประมลูโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (ไอพีพี) ในปี 2562 เพื่อผลประโยชน์ของใคร  … เป็นคำถามที่ศุภกิจโยนให้สังคมขบคิด เพราะเขา ไม่คิดว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการประมูลไอพีพี จะอยู่ในฐานะที่ประชาชนจะพึ่งได้ เพราะโครงสร้างอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรี ทั้งการสรรหา และการของบประมาณ

เขาแจกแจงที่ละประเด็นว่า ในด้านการพยากรณ์ พบว่า แผนพีดีพีฉบับนี้ ทำการพยากรณ์สูงเกินไป โดยเฉพาะช่วง 3 ปีแรก ทำให้กำลังผลิตสำรองสูงถึง 25% – 39% ถึงปี 2570 ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่า แผน  พีดีพี 2015 กำลังผลิตสำรองสูงขนาดไหน

ข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ก็ระบุชัดเจนว่า ตามระบบของ 3 การไฟฟ้า กำลังผลิต 40,879 เมกะวัตต์ ตัด โรงไฟฟ้าขนาดเล็กแบบนอนเฟิร์ม (SPP-NF)  และ โรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ( VSPP) ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) อยู่ที่ 29,968 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังผลิตสำรอง 36%  ส่วนระบบไฟฟ้ารวม กำลังผลิต 54,617 เมกะวัตต์ พีค 34,317 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังผลิตสำรอง 59% จากมาตรฐานสำรองไฟฟ้าอยู่ที่ 15%

ส่วนพีค แม้ของประเทศจะเพิ่มขึ้น 0.6% จากปี 2560 เทียบปี 2561 แต่พีคของระบบ 3 การไฟฟ้าฯ ลดลง 1.1%  ขณะเดียวกันพีคของกฟผ.ก็ลดลง 0.8% เฉพาะในภาคใต้พีคปี 2560 ต่ำกว่าปี 2557

การอนุรักษ์พลังงานลดลง

นอกจากนี้ยังปรับลดเป้าหมายเรื่องการอนุรักษ์พลังงานจากพีดีพี 2015 เดิมกำหนดปี 2580 ลดพีคไปได้ 9,645 เมกะวัตต์ และยังลดการใช้พลังงานได้เพิ่มทุกปี ด้วยมาตรการต่างๆ แต่ในพีดีพี 2018 ลดพีคเหลือ 4,000 เมกะวัตต์ และใส่เข้าแผนในช่วงท้ายเฉพาะปี 2576-2580

“ทั้งที่การอนุรักษ์พลังงานมีต้นทุนต่ำมาก และส่งผลกระทบน้อยที่สุด นอกจากนี้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ก็มีงบประมาณจำนวนมากรองรับ แต่เพราะเหตุใดจึงปรับลดสัดส่วนการอนุรักษ์พลังงานลง”

ส่วนเรื่องพลังงานหมุนเวียน  ศุภกิจ บอกว่า กำลังผลิตพึ่งได้ (Dependable capacity) ของพลังงานหมุนเวียนกำหนดไว้ต่ำเกินไป ประมาณ 30-50 % และกำหนดไว้ตายตัวตลอด 20 ปี

นอกจากนี้กำลังผลิตที่เชื่อถือได้ (Reliable capacity) ที่คิดความเสี่ยงที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในแต่ละภาคจะหยุดเดินเครื่อง (N-1) เกณฑ์นี้ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง ทั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และพลังงานหมุนเวียน ถูกหักไป เหลือ 85% ของกำลังผลิตจริง ซึ่งไม่น่าจะเป็นวิธีคิดที่ถูกต้อง เพราะเมื่อหักไปหักมาแล้ว สุดท้ายก็ต้องไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่

223720

ขาดข้อมูลสายส่งไฟฟ้า

สำหรับสายส่งไฟฟ้าระหว่างภาค  ซึ่งลงทุนไปแล้วหลายแสนล้านบาทไม่ถูกนำมาคิดด้วย เมื่อไม่ถูกนำมาคิดก็แปลว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ทั้งที่หากเราดูตามข้อมูลของกระทรวงพลังงานจะพบว่า ในปี 2566 ภาคตะวันออก มีไฟฟ้าเกินอยู่ 7,000 เมกะวัตต์ ภาคกลางตอนบน มีไฟฟ้าเกินอยู่ 2,500 เมกะวัตต์ รวมแล้วมีกำลังผลิตไฟฟ้าเกินอยู่ถึง 9,500 เมกะวัตต์ สามารถส่งมาหล่อเลี้ยงภาคตะวันตกได้ โดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในปีนั้น แต่ไปกำหนดแล้วให้มีการประมูลไอพีพีป้อนภาคตะวันตกขนาด 700 เมกะวัตต์ในปี 2566  และ 2567

จากประเด็นที่พบในพีดีพี ศุภกิจ ได้เสนอแนะทีละเรื่อง ไว้ดังนี้

1.เพิ่มเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน ให้เป็นอย่างน้อย 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2580 หรือ 17% ของพีค และต้องดำเนินการเพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ 2562 หากจะพัฒนาให้ใกลเคียงกับฮ่องกง และเกาหลีใต้ที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ควรกำหนดเป้าหมาย 17,000 เมกะวัตต์ในปี 2580 หรือ 30% ของพีค

2.ควรปรับลดการเพิ่มขึ้นของค่าพยากรณ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรก ควรลดลงจาก 3.9 – 4.7% เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าเร็วเกินไป เพราะจีดีพีเฉลี่ยตลอดแผนอยู่ที่ 3.8 % เท่านั้น สุดท้ายก็จะไปเพิ่มสำรองไฟฟ้าให้ล้นเกินขึ้นไปอีก  เพราะต้องไม่ลืมว่าการพยากรณ์ไฟฟ้าเกิน จนสำรองไฟฟ้าประเทศล้นขนาดนี้ เป็นภาระกับค่าไฟฟ้าของประชาชน แต่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ

และต้องปรับค่าการเพิ่มขึ้นของค่าพยากรณ์รายภูมิภาค เพราะบางภาคสูงเกินไป โดยเฉพาะ ในช่วง 3 ปีแรก ภาคตะวันตก ตะวันออก และภาคกลางตอนบน ที่กำหนดเพิ่มสูงถึง 4.2 – 9.3% ต่อปี  ส่วนภาคอื่นๆ 2.6 – 7.1% ต่อปี

ต้องใส่พลังงานหมุนเวียนเข้าระบบช่วงแรก

3.ควรปรับเพิ่มกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าระบบในช่วง 10 ปีแรกด้วย และตัวเลขกำลังผลิตพึ่งได้ของพลังงานหมุนเวียนต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง และต้องปรับเป็นระยะๆ ไม่ควรใช้ตัวเลขปัจจุบันไปตลอด 20 ปีของแผน ข้อเสนอ คือ ชีวมวลต้องอยู่ในสัดส่วน 80% เพราะเรามีเชื้อเพลิงที่หลากหลายรองรับ แก๊สชีวภาพ 60% แสงอาทิตย์ 50% ลม 25% ขยะ 70%

4.กำลังผลิตที่เชื่อถือได้ ควรคิดแยกแต่ละภาคตามความเป็นจริง และต้องหักลบเฉพาะโรงไฟฟ้าใหญ่เท่านั้น ไม่ใช้ไปหักลบ 15% ของพลังงานหมุนเวียนไปด้วย

“ต้องแยกแยะโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภท ไม่ควรคิดเหมารวม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และลมเข้าใจได้ว่าอาจไม่เสถียร แต่ชีวมวลและก๊าซชีวภาพไม่ได้เป็นอย่างนั้น มีเชื้อเพลิงรองรับเพียงพอ”

5.โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งใหม่ ต้องมีขนาดเล็กลง ไม่เกิน 800 ถึง 1,400 เมกะวัตต์ ต่อโรง เพื่อลดภาระการการลงทุน ตามแนวทาง N-1 และลดความเสี่ยง หากโรงไฟฟ้านั้นเกิดเหตุไม่สามารถเดินเครื่องได้ก็จะไม่เป็นภาระต่อระบบมากเกินไป

“เป็นคำตอบว่าทำไมโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ที่เราซื้อจากสปป.ลาวหยุดเดินเครื่องกะทันหันไฟฟ้าดับในวงกว้าง ก็เพราะเราไปคิดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมั่นคง และไปคิดว่าโรงไฟฟ้าใหญ่มั่นคง”  

6.ต้องนำกำลังของสายส่งไฟฟ้า ระหว่างภูมิภาคมาคิดเป็นกำลังผลิต สำหรับความเสี่ยงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในแต่ละภาคที่อาจจะหยุดผลิตด้วย และต้องแยกจากกัน ระหว่างการคิดกำลังสายส่งไฟฟ้า กรณีปกติ และกรณีฉุกเฉิน

ศุภกิจ ยังกล่าวอีกว่า พีดีพี 2018 พึ่งพากำลังผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมากขี้นในสัดส่วน 53%ในปี 2580 จาก58% ในปี 2560 ขณะที่ พีดีพี 2015  พึ่งพาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 64% ในปี 2557 เหลือ 37% ในปี 2579

renewable 1989416 960 720

โรงไฟฟ้าก๊าซฯไม่มีผลกระทบจริงหรือ

อย่างไรก็ตามให้ดูข้อมูลตัวอย่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติอย่างบางปะกงว่ามีผลกระทบหรือไม่ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ขนาด 1,450 เมกะวัตต์  ทดแทนเครื่องที่ 1-2 / หน่วยที่ 5 ขนาด 763 เมกะวัตต์ ใช้น้ำหล่อเย็นจากแม่น้ำ  49 ล้านลบ.ม. ต่อปี ปล่อยน้ำหล่อเย็นลงสู่แม่น้ำ 40.9 ล้านลบ.ม.ต่อปี ค่ามาตรฐานน้ำไม่เกิน  40 องศา ใช้สารเคมีในหอหล่อเย็น1,478 ตันต่อปี ปล่อยฝุ่นขนาดเล็ก (PM) 283,805 ก.ก. ต่อปี และปล่อยปรอทออกสู่สิ่งแวดล้อม 66 ก.ก. ต่อปี ไม่รวมผลกระทบอื่นๆ เป็นคำตอบของเขา ว่าก๊าซธรรมชาติไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่??

สำหรับภาคตะวันออก เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งใหม่เลย ในช่วงปี 2562-2568 ดังนั้น โครงการไอพีพี ขนาด 2,500 เมกะวัตต์ 2 โรง และ 540 เมกะวัตต์ อีก 1 โรง จึงควรเลื่อนออกไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้า  

ส่วนภาคใต้ ยังมีโรงไฟฟ้าน้ำมันเตา ของกระบี่ ขนาด 340 เมกะวัตต์ เดินเครื่องเมื่อปี 2547 ควรใช้ให้ได้ถึง 2572 เพราะได้ลงทุนเป็นภาระของปไระชาชนไปแล้ว ต้องนำมาคิดเป็นกำลังผลิตของภาคใต้ด้วย ไม่ควรถูกตัดทิ้งไปเลย

ศุภกิจ ประเมินถึงค่าไฟฟ้าที่เกิดจากพีดีพีฉบับนี้ กระทรวงพลังงานบอกว่า จะมีค่าไฟฟ้า 3.55 – 3.63 บาทต่อหน่วย ตลอด 20 ปี ต่ำกว่าพีดีพี 2015 โดยไม่แสดงข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณ จนเกิดข้อสงสัยของหลายๆคน ว่าราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จะคงที่ตลอด 20 ปีได้จริงหรือ อย่างไรก็ตามคิดว่า ที่มีการยืนยันอย่างนั้น เพราะหากต้นทุนเพิ่มขึ้น ก็ไม่มีใครต้องรับผิด สามารถผลักภาระไปในค่าไฟฟ้าได้ทั้งหมดอยู่แล้ว

สำหรับสิ่งที่ต้องปรับไปพร้อมกับพีดีพี 2018 เขา ย้ำว่า ต้องปรับโครงสร้างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ให้เกิดความโปร่งใส และลดข้อผูกมัด ซึ่งเป็นการผลักภาระให้กับประชาชน โดยในส่วนของค่าความพร้อมจ่าย (AP) ซึ่งหมายถึง แม้โรงไฟฟ้านั้นไม่ผลิตไฟฟ้า ก็ต้องจ่ายเงิน ส่วนค่าพลังงาน (EP) จ่ายตามจำนวนที่ผลิตจริง ค่าเชื้อเพลิง ส่งผ่านไปสู่ค่าไฟฟ้า เอกชนไม่ต้องรับความเสี่ยงใด แต่รัฐต้องรับภาระความเสี่ยง และทำการส่งผ่านไปยังค่าไฟฟ้าในที่สุด ดังนั้นจะเห็นว่ามีจุดที่ต้องปรับ ประกอบกับเทคโนโลยีก็พัฒนาขึ้นมามาก เราต้องปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เพื่อลดภาระ

“พีดีพี ฉบับนี้บอกว่าไม่มีนิวเคลียร์ และ ถ่านหินในภาคใต้ แต่ไม่ได้หมายถึงจะไม่มีตลอดไป ก็ต้องติดตามดูกัน“

อย่างไรก็ตามศุภกิจ สาวมาถึงยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ (SEA) ว่าควรจะเชื่อมโยงกับพีดีพี แต่ก็ล่าช้าไปแล้ว โดยคาดว่าผลการศึกษาที่กระทรวงพลังงานจ้างสถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (นิด้า) เพิ่งเริ่มได้ในเดือนธันวาคม 2561 และจะแล้วเสร็จในปี 2562 เมื่อเป็นอย่างนี้ ควรให้เวลาศึกษา และขยายโจทย์ไม่ควรมีคำตอบเฉพาะภาคใต้มีหรือไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ควรต้องศึกษาว่าศักยภาพของภาคใต้ทั้งหมดว่ามีอะไรบ้าง เช่น อาจเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลจากปาล์ม ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำได้ด้วย เป็นต้น

bpk
โรงไฟฟ้าบางปะกง (ภาพ: กฟผ.)

ฝากถึงกพช.ฟังความเห็นประชาชน

เขา ฝากไปถึง กพช.ในฐานะที่ต้องอนุมัติแผนพีดีพี 2018 ว่าควรจะนำความคิดเห็นของประชาชนในเวทีต่างๆ รวมถึงความเห็นที่ผ่านทางเว๊ปไซด์ มาศึกษาอย่างจริงจัง ไม่รับฟังแต่ข้อสรุปของกระทรวงพลังงานที่มักจะรายงานว่า ได้ทำการรับฟังความเห็นครบถ้วนแล้ว

และต้องขอยืนยันว่าพีดีพีฉบับนี้เร่งรัด และพยายามไม่ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลพีดีพีก่อนล่วงหน้า ในเวทีภูมิภาคให้ประชาชนมารับเอกสารจากหน้างานเท่านั้น  ส่วนการดาวน์โหลดเอกสารเพิ่งเปิดให้ดาวโหลดได้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ก่อนจะมีการรับฟังความเห็นในเวทีกรุงเทพ 1 วัน และทุกคนที่สนใจต้องตามจากเว๊ปไซด์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เท่านั้น หากประชาชนเข้าไม่ถึงก็จะไม่ทราบความคืบหน้าใดๆ …นี่หรือความโปร่งใส

Avatar photo