Economics

รับบทหนัก!! 2 ภารกิจกรมเชื้อเพลิงปั้นทีมเวิร์กกำกับเอราวัณบงกช-เปิดสัมปทานรอบใหม่

ภายหลังมติการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 50/2561 อนุมัติให้ 1.บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี 2  (ประเทศไทย) จำกัด เป็น ผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (แปลงเอราวัณ) และ 2. บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัดเป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในแปลงสำรวจหมายเลข G2/61 (แปลงบงกช)

บงกช

ภารกิจหลังจากครม.มีมติตกหนักที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะมีหน้าที่โดยตรง เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต  (Production sharing contract : PSC )ครั้งแรกของประเทศไทย กับผู้ชนะการประมูลภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

อธิบดีใหม่กรมเชื้อเพลิงลูกหม้อเก่า มารับตำแหน่งถูกที่ถูกเวลา กำลังดีงพี่ๆน้องๆในกรมที่อยู่กระจัดกระจายมาสร้างทีมกำกับดูแลแปลงเอราวัณ-บงกชตามระบบ PSC ที่รัฐจะต้องคอยประกบภาคเอกชนมากกว่าระบบสัมปทาน ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยดี โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณ ที่ต้องออกจากมือบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้รับสัมปทานเดิมไปยังปตท.สผ.ผู้ได้รับสิทธิรายใหม่ ซึ่งกรมเชื้อเพลิงจะต้องกำกับดูแลให้การผลิตจากแหล่งนี้ในระยะยาวเป็นไปตามสัญญาทั้งโดยผู้ผลิตรายเดิมและรายใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมการเปิดสัมปทานรอบใหม่ เพื่อรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมของประเทศ

LINE P20181222 164108223

นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมทีม เพื่อเดินหน้าตามภารกิจเร่งด่วนใน 2 เรื่อง ประกอบด้วย ภารกิจที่ 1. การเตรียมทีม เพื่อเดินหน้าหลังได้ผู้ชนะประมูลปิโตรเลียมแปลงเอราวัณ-บงกช โดยเฉพาะแปลงเอราวัณ เพื่อให้การถ่ายโอนระหว่างรายเก่า และรายใหม่ดำเนินการไปอย่างเรียบร้อย การผลิตต่อเนื่องนับจากเดือนเมษายน 2565 ที่สัมปทานเดิมจะหมดอายุ

โดยหลักของการบริหารจัดการ คือ จะต้องให้รายใหม่เข้าไปเตรียมพร้อมก่อนสัมปทานหมดอายุได้ โดยไม่ไปรบกวนการผลิตของรายเดิม เพื่อรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมในช่วงปลายสัมปทาน ซึ่งอาจจะลดลงจากในช่วงแรกที่ 1,240 ล้านลบ.ฟุตต่อวันเหลือประมาณ 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน

“แนวทางการเตรียมพร้อมของเรา คือ  บุคลากร โดยดึงเจ้าหน้าที่กรมเชื้อเพลิงที่ปฏิบัติงานในพื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซียมาทำงานร่วมกัน รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องมาเป็นทีมเวิร์ก  เพื่อให้การกำกับดูแลในแปลงเอเราวัณ-บงกชเป็นไปอย่างจริงจังตามกฎกติกา PSC “

นางเปรมฤทัย บอกอีกว่า ไม่นานนี้จะต้องเชิญทั้งรายเก่า และรายใหม่มาหารือร่วมกัน เพื่อให้รู้ว่าจะต้องสร้างแท่นผลิตใหม่หรือไม่ซึ่งการสร้างแท่นผลิตใหม่ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี

สำหรับภารกิจที่ 2 จะต้องเตรียมการสำหรับเปิดสัมปทานรอบใหม่ โดยต้องหาข้อสรุปก่อนว่าจะเรียกว่าเป็นรอบที่ 21 22 หรือ 23 หรือไม่ เพราะที่เปิดแปลงสัมปทานเอราวัณ-บงกชเราไม่ได้ระบุรอบไว้ เนื่่องจากเป็นการใช้ระบบ PSC ครั้งแรกของประเทศไทย จากที่ผ่านมาเราใช้ระบบสัมปทานมาโดยตลอด เพียงแต่ปรับสูตรการคิดผลตอบแทนแตกต่างกันตามช่วงเวลา และศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียม

แผนงานที่เราต้องเตรียมก็คือ การหารือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเข้าใช้พื้นที่ที่จะเปิดสัมปทานรอบใหม่ ไม่ให้เกิดปัญหาต่างคนต่างยึดกฎหมายของตัวเองแล้วเอกชนเข้าไปพัฒนาไม่ได้  ขณะเดียวกันต้องลงพื้นที่สร้างความเข้าใจทั้งหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะพลังงานจังหวัด โรงเรียน ผู้นำชุมชน และประชาชนทั่วไป

เอราวัณ 1

นางเปรมฤทัย กล่าวว่าภารกิจของกรมเชื้อเพลิงในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม เป้าประสงค์ก็เพื่อรักษาระดับการผลิตในประเทศ  รองรับความต้องการใช้ ให้เราพึ่งพาการนำเข้าให้น้อยที่สุด โดยในช่วง 10 เดือนแรกของ ปี 2560 และ 2561 ตั้งแต่ มกราคม – ตุลาคม) เฉพาะในประเทศไม่รวมพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) เราผลิตได้ดังนี้

ก๊าซธรรมชาติ
– ปี 2560 ผลิตได้ ประมาณ 870,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต
– ปี 2561 ผลิตได้ ประมาณ 840,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต
(ลดลง ประมาณ 30,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต)

ก๊าซธรรมชาติเหลว
– ปี 2560 ผลิตได้ประมาณ 28.8 ล้านบาร์เรล
– ปี 2561 ผลิตได้ประมาณ 29.3 ล้านบาร์เรล
(เพิ่มขึ้น ประมาณ 500,000 บาร์เรล)

น้ำมันดิบ
– ปี 2560 ผลิตได้ประมาณ 41.7 ล้านบาร์เรล
– ปี 2561 ผลิตได้ประมาณ 39.5 ล้านบาร์เรล
(ลดลง ประมาณ 2.3 ล้านบาร์เรล)

Avatar photo