Economics

หาจุดสมดุล PDP 2018 ตอบโจทย์พลังงานยั่งยืน

การจัดทำ “แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่”  ( PDP 2018 )  20 ปี สิ้นสุดปี 2580 ถือเป็นอีกแผนพลังงานที่เกิดจากการประสานพลังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แผนฉบับนี้ตอบโจทย์การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน 1.ด้านความมั่นคง  2.ด้านราคา และ 3.ด้านสิ่งแวดล้อม

1545195943319

โดยมุ่งเน้นความสำคัญในประเด็นดังต่อไปนี้ ก็คือ สร้างสมดุลระบบไฟฟ้าตามรายภูมิภาค ,การพิจารณาโรงไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงในระดับที่เหมาะสม ,เพิ่มความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า ( Grid Flexibility ) ,ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ , รักษาระดับราคาไฟฟ้าขายปลีกไม่ให้สูงขึ้น , ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ,การพัฒนาระบบสายส่งอัจฉริยะ ( Smart Grid )

PDP 2018 แตกต่างจากแผนฉบับที่ผ่านมา โดยมุ่งสร้างพลังงานเป็นรายภูมิภาค รวม 7 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง ภาคใต้ และเขตนครหลวง ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับประสิทธิภาพ และข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน รองรับการเปลี่ยนแปลงตลาด ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้าเป็นคนเดียวกัน ( Prosumer )

อันจะทำให้การวางแผนพัฒนาถูกจุดมากขึ้น เกิดการกระจายตัวของแหล่งผลิตไฟฟ้า ไม่กระจุกตัวอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไป ยกตัวอย่างภาคอีสานยังคงพึ่งไฟจากภาคเหนือ และ สปป.ลาวได้  ขณะที่ภาคใต้ พึ่งพามาเลเซียได้เพียง 300 เมกะวัตต์เท่านั้น เป็นเหตุผลให้ PDP 2018 ต้องคำนึงถึงความมั่นคงที่ต้องตอบโจทย์เป็นรายภูมิภาคให้มากขึ้น

นอกจากนี้ PDP ยังให้ความสำคัญกับวางแผนการบริหารจัดการเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน และคำนึงไปถึงความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงระบบสายส่งเข้ากับภูมิภาค หรือ Reginal Grid  รวมถึงปัจจัยจากเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ( Disruptive Technology ) ที่ทำให้รูปแบบของการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนไป

“อนาคตโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะลดลง และแทนที่ด้วยโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่เป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนต่ำลง

1545195943251

แต่มีการคาดไว้ว่าระบบไฟจะไม่เสถียร เนื่องจากข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียน หรือความไม่แน่นอนของแดด ลม โรงไฟฟ้าอนาคต จึงต้องพัฒนาให้มีความยืดหยุ่นสูง สามารถเดินเครื่องได้อย่างรวดเร็ว  ดังนั้น “Smart Grid ” หรือ “ระบบกักเก็บพลังงาน” (ESS) จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กำลังกลายเป็นประเด็น ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควรจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 50% เพื่อความมั่นของประเทศหรือไม่ ซึ่งยังต้องหาความชัดเจน เพราะรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่ากิจการที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ควรให้รัฐถือครองได้ 50% แต่หากเป็นกิจการทั่วไป รัฐไม่ควรแข่งขันเอกชน ซึ่งไฟฟ้านั้นควรอยู่ตรงไหน จะต้องมาตีความกัน”

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มองโลกอนาคตได้ชัดเจนมากขึ้น กฟผ. ได้ลงนาม ( MOU) กับทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ( EIA ) กับมหาวิทยาลัยฮาวาย เพื่อศึกษาสภาพระบบไฟฟ้าของไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อมีพลังงานทดแทนเข้าสู่ระบบไฟฟ้ามากขึ้น นำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบการผลิต ส่งไฟฟ้า และโครงสร้างองค์กร

รวมไปถึงการรับฟังข้อคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่มีต่อ PDP 2018  แผนที่กำหนดชะตามกรรมของระบบไฟฟ้าประเทศในอนาคต ซึ่งได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างเข้มข้นใน 4 ภาคของประเทศ ตลอดเดือนธันวาคม ทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น  สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และปิดท้ายที่ภาคกลาง กรุงเทพ ไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือนมกราคม 2562 และคณะรัฐมนตรีต่อไป

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เน้นย้ำหลักการในการจัดสรรกำลังผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้เข้าระบบให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าไปจนถึงปี 2580  ประกอบด้วย  4 แนวทาง คือ 1.โรงไฟฟ้าจากนโยบายส่งเสริมภาครัฐ 2.โรงไฟฟ้าหลักจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 3.โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก ( AEDP )  4.แผนอนุรักษ์พลังงาน ( EEP )

1545195943285

อย่างไรก็ตามทั้ง 5 เวทีรับฟังความเห็นมีข้อเสนอแนะ และท้วงติงมากมายจากประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงที่กฟผ.ต้องดูแล การเปิดให้เอกชนผลิตไฟฟ้าแทนรัฐที่เหมาะสม  การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ควรมาจากเชื้อเพลิงใดที่จะไม่เป็นภาระประเทศ การตามติด Prosumer และ โรงไฟฟ้าที่ผลิต เพื่อใช้เอง และหรือขายตรงเชื่อมต่อกับระบบของ 3 การไฟฟ้า ( Independent Power Supply :  IPS ) ที่ทำให้การพึ่งพิงระบบไฟฟ้าผ่านสายส่งลดลง

การศึกษาอย่างรอบด้าน เพื่อให้เห็นข้อเท็จจริง และการเปิดใจรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน จะนำมาซึ่ง PDP ที่ตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี  ทำให้ระบบไฟฟ้าของไทยสมดุล มีความมั่นคงในระยะยาว ราคาค่าไฟฟ้า  สมเหตุสมผล และดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

Avatar photo