Economics

‘คลัง’ เผย ครม.ไฟเขียวกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปปี 65 ในช่วง 1-3%

“โฆษกกระทรวงการคลัง” เผย ครม.อนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2565 กำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3%

ครม.ได้มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. และ รมว.คลัง เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 28/8 แห่ง พ.ร.บ. ธปท. พ.ศ.2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ธปท. (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551

คลัง 1412641

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 สรุปได้ ดังนี้

1. กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับปี 2565

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะประธาน กนง. ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2565 โดยข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

     2.1 พลวัตและแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

เศรษฐกิจโลกและไทยได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ที่มีความยืดเยื้อ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยในช่วงที่ผ่านมาและในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับขอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยมีปัจจัยสำคัญคือ

พรชัย ฐีระเวช 111164
นายพรชัย ฐีระเวช
  1. กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงเป็นวงกว้างตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง อาจทำให้เศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
  2. รายได้และกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับต่ำจากตลาดแรงงานที่มีความเปราะบางตามการเพิ่มขึ้นของผู้ว่างงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
  3. ราคาสินค้าที่ปรับลดลงจากพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งจากการแข่งขันด้านราคาผ่านธุรกิจ e-commerce และต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงจากการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต (Automation) มากขึ้น

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อไทยในอนาคตอาจจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ความผันผวนของราคาพลังงานและราคาอาหารสด การเกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) และการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ที่อาจทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นได้

     2.2 การกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. มีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายที่ยังมีความเหมาะสมภายใต้บริบทของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เนื่องจาก

  1. แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าและในระยะปานกลางจะเคลื่อนไหวอยู่ใกล้เคียงกับเป้าหมายและไม่ได้ปรับลงอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ
  2. สามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนได้ดี โดยในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่กำหนด (Well-Anchored)
  3. การกำหนดเป้าหมายแบบช่วงที่มีความกว้างร้อยละ 2 มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงช่วยเอื้อให้การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ รวมถึงการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมากและยังมีความไม่แน่นอนสูง กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะร่วมมือในการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้มีความสอดประสานและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบได้อย่างตรงจุดและทันการณ์ ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว มั่นคงและยั่งยืน รองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในช่วงระยะสั้น กลาง และยาว โดยมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และสร้างรายได้ให้กับประชาชน

โควิด เศรษฐกิจ 1412641

     2.3 การติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน

กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยจะหารือร่วมกันเป็นประจำและ/หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน

กนง. จะจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ

  1. การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา
  2. แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป
  3. การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาสเป็นการทั่วไป อันจะช่วยเพิ่มการรับรู้ของสาธารณชนถึงแนวทางการตัดสินนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต

     2.4 การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปออกนอกกรอบเป้าหมาย

กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับขอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินไปอีกระยะหนึ่ง รวมถึงอาจมีความผันผวนและมีพลวัตที่เปลี่ยนไปได้หลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สิ้นสุดลง ดังนั้น กนง. จะติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว รวมถึงประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่มีต่อพลวัตเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยจะชี้แจงถึง

แบงค์ชาติ 211124 e1639472739131

  1. สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว
  2. แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไปเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม
  3. ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือนหากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย และจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร

     2.5 การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน

ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo