Economics

‘จุรินทร์’ โชว์วิสัยทัศน์ดันเศรษฐกิจ นำ ‘พาณิชย์’ ผนึกเอกชน เร่งการค้าใน-นอกประเทศ

“จุรินทร์”โชว์วิชั่นดันเศรษฐกิจไทย นำพาณิชย์ผนึกกำลังภาคเอกชน ลุยขับเคลื่อนการค้า ทั้งในประเทศ และต่างประเทศต่อ มีทีมเซลส์แมนจังหวัด และเซลส์แมนประเทศ เป็นผู้คอยช่วยเหลือ เตือนเอกชนระวังการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่จะรุนแรงขึ้น ต้องปรับตัวให้ทัน แนะศึกษาเตรียมการใช้ประโยชน์จาก RCEP ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ ย้ำกองทุน FTA ชงคลังพิจารณาแล้ว หากเห็นด้วย รอเข้า ครม.ต่อไป

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ นโยบายการส่งเสริมการส่งออก และการบริโภคภายในประเทศ และการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ราคาต่ำ เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศว่า โควิด-19 ยังจะต้องอยู่กับประเทศไทย และกับโลกอีกนาน

สิ่งที่ต้องคิด และต้องทำ คือ จะนำเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปสู่ความสำเร็จร่วมกันได้อย่างไร ซึ่งตนยืนยัน เน้นย้ำการทำงานร่วมกัน ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กับภาคเอกชน จะต้องยึดหลักรัฐหนุน เอกชนนำ เพราะเอกชน คือ ทัพหน้าในการทำรายได้เข้าประเทศ

จุรินทร์

“ถ้าเป็นทีมฟุตบอล เอกชนต้องเป็นกองหน้า เพราะต้องทำหน้าที่ยิงประตู ทำคะแนนที่เป็นรูปธรรม รัฐบาลเป็นแบ็ก สนับสนุนการทำหน้าที่ของภาคเอกชน ต้องจับมือร่วมกันอย่างเข้มแข็งแน่นแฟ้น จึงเป็นที่มาของหลักคิด การตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ซึ่งสามารถทำตัวเลขให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุด คือ การส่งออก”

“แต่ถ้าขาดความร่วมมือร่วมใจระหว่างรัฐ กระทรวงพาณิชย์ กับเอกชน อุปสรรคต่าง ๆ จะไม่คลี่คลาย การจับมือร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เข้มข้น และถึงลูกถึงคน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องเดินหน้าร่วมกันต่อไป”

นายจุรินทร์ เปิดเผยด้วยว่า ในการขับเคลื่อนการค้าจากนี้ไป ทีมเซลล์แมนจังหวัด กับทีมเซลล์แมนประเทศ จะต้องเดินหน้าต่อไปให้เข้มแข็ง เข้มข้น และปรากฏเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

ทีมเซลล์แมนจังหวัด จะต้องจับมือกันระหว่างรัฐ กับเอกชน ขับเคลื่อนในระดับจังหวัด จึงมีความสำคัญ และทรงพลังอย่างยิ่งที่จะนำ 77 ทีม มาบวกกัน และเป็น กรอ.พาณิชย์ระดับประเทศ ทำตัวเลขยิงประตูให้ประเทศ

ส่วนทีมเซลล์แมนประเทศ มีทูตพาณิชย์ 58 แห่ง เป็นหัวเรือใหญ่ จับมือร่วมกับนักธุรกิจที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ทำการค้าส่งออก จับมือกันเป็นทีม

ตนให้นโยบายชัดเจนว่า ต้องมีเป้าหมาย มีเกณฑ์ เอกชนต้องใช้ทีมเซลล์แมนจังหวัด และทีมเซลล์แมนประเทศให้เข้มข้นขึ้น เป็นนโยบายต้องอุดหนุนเป็นแบ็กให้กับภาคเอกชน โดยเซลล์แมนจังหวัด กับเซลล์แมนประเทศ ต้องจับมือกันทำงานร่วมกัน ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป

นอกจากนี้ เห็นว่า ภาคเอกชนไทย ต้องเร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์โลก ซึ่งที่ผ่านมา ทันอยู่แล้ว แต่จากนี้ต้องเตรียมการรองรับมาตรการกีดกันทางการค้า ที่จะเข้มข้น หนักข้อขึ้นเป็นลำดับ เพราะภายหลังประเทศพัฒนาแล้ว ใช้มาตรการทางภาษีกีดกันสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา ประสบความสำเร็จ หลังจากการรวมตัวกันในระบบพหุภาคี หรือในระบบทวิภาคีในรูป FTA หรือ WTO ทำให้กำแพงภาษีทลายลงภาษีเป็นศูนย์ มาตรการทางภาษีจึงลดความสำคัญลง

จุรินทร์ ต้องจับตากำแพงการค้า 

มาตรการใหม่จึงเกิดขึ้น คือ มาตรการที่มิใช่ภาษี มาเป็นกำแพงกั้นสินค้า ที่ไปจากประเทศคู่แข่งหรือประเทศอื่น ๆ ต้องจับตาสิ่งเหล่านี้ใกล้ชิด และกำแพงที่มิใช่ภาษีจะถูกคิดค้นขึ้นมา ทั้งที่กำลังทำและในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการสิ่งแวดล้อม มาตรการแรงงาน มาตรการสิทธิมนุษยชน สุขอนามัย ล่าสุดภาษีคาร์บอน เพื่อเป้าหมายกีดกันทางการค้าหรือปกป้องการค้าของประเทศ โดยอียูเริ่มแล้วในอีก 2 ปี จะคิดภาษีคาร์บอน 5 สินค้า 1.เหล็ก 2.อะลูมิเนียม 3.ซีเมนต์ 4.ไฟฟ้า 5.ปุ๋ย ขอให้เอกชนทั้งหลายเตรียมการ

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า มีการเอาปัจจัยเศรษฐกิจมาผูกมัดติดกับปัจจัยทางการเมือง และกลายเป็นปัจจัยปกป้องกีดกันทางการค้า ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

“เราจะอยู่ตรงไหน เป็นเรื่องที่เราต้องคิด ทุกคนตอบตรงกันว่าเราต้องผนึกกำลังกับอาเซียน จับมือกับอีก 9 ประเทศ จับมือระหว่างอาเซียนด้วยกัน ซึ่งเราก็ต้องแข่งกัน แต่ความสมดุลอยู่ตรงไหน รัฐต้องคิด เอกชนก็ต้องคิด จับมือให้เข้มข้น เข้มแข็ง แข่งกันระหว่างบริษัท แต่ระหว่างกลุ่มประเทศต้องจับมือกัน”

“เราต้องขายบริการด้วย บริการที่มีศักยภาพ เช่น ดิจิทัลคอนเทนต์ ประเทศไทยไม่แพ้ใคร แต่ขอให้เราส่งเสริม เด็กรุ่นใหม่ไทยเก่งเยอะ เอนิเมชัน ภาพยนตร์ เราต้องช่วยกันหนุน เอกชนต้องกล้าทำกล้านำ รัฐเป็นแบ็ก กระทรวงพาณิชย์ เข้าไปช่วยคิดช่วยทำ ต้องไม่เน้นการแข่งขันเรื่องราคาอย่างเดียวต้องเน้นคุณภาพ”

สำหรับการใช้ประโยชน์จาก FTA และการทำสัญญาการค้าระบบพหุภาคี โดยเฉพาะ RCEP กำลังจะมีผลบังคับใช้ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนให้สัตยาบัน ซึ่งไทยมีกำหนดการชัดเจนแล้วว่า จะให้สัตยาบัน ไม่ช้ากว่าเดือนพฤศจิกายน 2564 หวังว่าจะบังคับใช้ได้ต้นปีหน้า

“เราต้องรีบศึกษาข้อตกลงว่ามีอะไรบ้าง จะเป็นอุปสรรคกับธุรกิจของเราอะไร จะได้เปรียบเรื่องอะไรบ้าง โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซจะแทรกในทุกข้อตกลง”

พร้อมกันนี้ อยากเรียนความคืบหน้าเรื่องที่เอกชนเรียกร้องมานาน คือ กองทุน FTA ที่จะตั้งขึ้นเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า โดยบางคนได้ บางคนเสีย จึงต้องหาทางช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่กี่วันนี้ ตนได้ลงนามถึงกระทรวงการคลัง เรื่องการจัดตั้งกองทุนแล้ว หลังจากผ่าน จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นจะได้มีกองทุน FTA ที่เรียกร้องมานาน โดยเฉพาะภาคเอกชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo