Economics

‘สกพอ.’ ร่วมมือ ‘อบจ.ระยอง-เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่’ เร่งเครื่องพัฒนาไม้ผลครบวงจร

สกพอ. ร่วมมือ อบจ.ระยอง และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ เร่งเครื่องพัฒนาไม้ผลครบวงจร ตามโครงการ EFC แผนพัฒนาการเกษตรพื้นที่อีอีซี นำร่องชาวสวนทุเรียน ผลิตได้ตรงตลาด รักษาคุณภาพรสชาติด้วยห้องเย็นทันสมัย จัดระบบขายได้ตลอดปี สร้างรายได้สูงให้เกษตรกร 

วันนี้ (4 ก.ย.) นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมเป็นประธาน และสักขีพยาน การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาไม้ผลอย่างครบวงจร ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) และแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

1650055

โดยมี นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) และนายโชติชัย บัวดิษ ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ไม้ผลจังหวัดระยอง ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม 3 องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง

บันทึกข้อตกลงครั้งนี้ จะช่วยยกระดับผลไม้ไทย ให้มีคุณภาพมาตรฐานพรีเมียมระดับสากล ตั้งแต่การเพาะปลูก จนถึงการทำตลาดด้วยนวัตกรรมใหม่ ตรงความต้องการตลาดผู้บริโภครายได้สูง และสนับสนุนโครงการระบบห้องเย็นตามโครงการ EFC ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ มีความร่วมมือสำคัญ ๆ 4 ด้าน ได้แก่

IMG 3731
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ
  1. สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรไม้ผล ได้พัฒนาทักษะการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในการผลิต แปรรูป การค้าการตลาดยุคใหม่อย่างครบวงจร สร้างโอกาสเข้าถึงทรัพยากร เพิ่มอำนาจต่อรองตลอดช่วงการผลิตสินค้า
  2. ยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลไม้ไทย สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคตลาดในและต่างประเทศ รักษาเสถียรภาพราคา ลดความเสี่ยงให้เกษตรกร
  3. พัฒนาการเก็บรักษา ยืดอายุผลผลิต ให้คุณภาพ รสชาติเดิมได้นาน ด้วยการใช้ประโยชน์ระบบห้องเย็น (Blast Freezer & Cold Storage)
  4. ส่งเสริมการวิจัย และต่อยอดการแปรรูปไม้ผล มูลค่าสูง ร่วมกับพันธมิตร ให้ตรงความต้องการตลาด และสนับสนุนด้านการตลาดสมัยใหม่อย่างครบวงจร

ระยะแรกกลุ่มที่เข้าร่วมลงนาม เพื่อผลิตทุเรียนพรีเมียม จะมีเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจแปลงใหญ่ 16 กลุ่ม เกษตรกรประมาณ 700 ราย พื้นที่ประมาณ 8,200 ไร่ โดยจะผลิตทุเรียนได้ประมาณปีละ 13,000 ตันต่อปี และจะขยายเครือข่ายสมาชิกให้มากขึ้น จากความร่วมมือของ อบจ. และเกษตรจังหวัด ที่สนับสนุนร่วมกัน รวมทั้งขยายผลเพิ่มเติมในกลุ่มไม้ผลอื่น ๆ ต่อไป

IMG 3733
ชาญนะ เอี่ยมแสง

ดร.คณิศ กล่าวว่า สาระสำคัญการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จะสอดคล้องกับโครงการ EFC ที่เป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาเกษตรในอีอีซี ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ คือ

  • การสร้างสินค้าให้มีคุณภาพตามความต้องการตลาด โดย สกพอ. มุ่งเน้นตลาดกลุ่มลูกค้าทุเรียนพรีเมียม
  • การวางระบบการค้าสมัยใหม่ ผ่านระบบ e-commerce และ e-auction ผลผลิตที่ส่งออกต้องตรวจสอบ และย้อนกลับได้ สร้างมูลค่าให้ทุเรียนของภาคตะวันออก
  • การลงทุนห้องเย็นด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เก็บรักษาให้มีความสดใหม่
  • การจัดระบบสมาชิกชาวสวนผลไม้ สหกรณ์ที่เข้าร่วม ให้พัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพพรีเมียม
IMG 3775
ปิยะ ปิตุเตชะ

สำหรับการผลิตทุเรียนของไทย คาดว่าในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า จะสูงถึง 2 ล้านตัน ปัจจุบัน ผลผลิตจากระยอง คิดเป็น 10% หรือกว่า 1 แสนตันต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ระบบห้องเย็น ภายใต้โครงการ EFC จะสามารถจัดเก็บผลผลิต เพื่อขายในช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยว หรือช่วงขาดแคลนได้ โดยจะจัดเก็บทุเรียนได้ประมาณ 4,000 ตันต่อรอบ

หากจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จะจัดเก็บได้มากกว่า 10,000 ตันต่อปี ช่วยรักษาความสด คงรสชาติ สร้างเสถียรภาพทางราคา สามารถส่งออกทุเรียนออกขายช่วงเทศกาลสำคัญ ที่มีความต้องการเป็นจำนวนมาก ขายได้ราคาสูง หรือกำหนดราคาเองได้ รวมทั้งรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวไทย และต่างประเทศ ให้กินทุเรียนของระยองได้ตลอดปี สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

IMG 3735
โชติชัย บัวดิษ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo