Economics

Halal Tourism District หนุนท่องเที่ยวภาคใต้

หนึ่งในกลยุทธ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ชายแดน คือการมุ่งต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมให้มีประสิทธิภาพและความยั่งยืน

โครงการ “การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ SMEs/Startup ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้”   ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับศูนย์อำนวยการจังหวัดชายแดนใต้ (ศอบต.)  ถือเป็นการบ่มเพาะผู้ประกอบการ มุ่งต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ

 

นวัตกรรมจังหวัดชายแดนใต้
วิเชียร สุขสร้อย

วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่าผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ได้ส่งเสริมและสร้างนวัตกรรมด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การอบรมให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมในการขอรับทุนต่างๆ จากแหล่งทุน การมอบทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรมที่มีความเป็นไปได้ในการจัดตั้งธุรกิจ การให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง การจัดแสดงผลงานการจับคู่ธุรกิจ ฯลฯ

ช่วง  2 ปีที่ผ่านมามีธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม รวมถึงสตาร์ทอัพให้ความสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 ราย ทั้งยังเกิดผลสำเร็จของการพัฒนาที่เห็นเป็นรูปธรรมโดยมีการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพ และการนำนวัตกรรมไปใช้เพิ่มมูลค่าในธุรกิจ ได้แก่ โครงการ ฟินเดลิเวอรี่ : แพลตฟอร์มระบบซื้อ-ขายสินค้าและวัตถุดิบที่มีความสะดวกในเรื่องของเวลาและการเดินทาง โครงการ พินซูก : ตลาดซื้อขายสินค้าฮาลาล ออนไลน์ที่กระจายพื้นที่อยู่ในประเทศไทย แบบเสร็จสรรพ, เบญจเมธา ผลิตภัณฑ์เซรามิกจากเนื้อดินท้องถิ่น ที่ผสมผสานนวัตกรรมและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแดนใต้ และ นัสรีน ผลิตภัณฑ์กือโป๊ะ ที่ปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบการผลิตกึ่งอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดระยะเวลาในการผลิต

การดำเนินกิจกรรมในปีถัดไป NIA ได้จัดงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ “การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ SMEs/Startup ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้” จำนวน  22.4 ล้านบาท มุ่งขยายผลนวัตกรรมเดิม รวมทั้งบูรณาการงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาใช้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาด และพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับสำนักสนับสนุนการผลิตและธุรกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสล.) กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ (YES) จัดประชุมเพื่อบูรณาการแผนการขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในปี 2562 ตามกรอบความร่วมมือ และรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยกำหนดแผนงานเดิมและเพิ่มเติมแผนงานใหม่ ได้แก่

นวัตกรรมจังหวัดชายแดนใต้
กระบวนการผลิตข่าวเกรียบปลา (กรือโป๊ะ)

• การพัฒนาโครงการ/ผู้ประกอบการ ด้วยการหาความต้องการของพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่จำเป็นและสอดคล้องกับสภาพปัญหา เช่น การจัดการภัยพิบัติ การจราจร การดูแลสุขภาพ ซึ่งจะต้องมีความแตกต่างกันไปใน แต่ละบริบทของพื้นที่ โดยแนวทางดังกล่าวยังเป็นการดึงดูดการลงทุนจากทั้งภาครัฐ และเอกชนที่ต้องการขยายผลนวัตกรรมให้เกิดกระจายไปสู่ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

• พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม หรือ Maker Space ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีความพร้อมสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ หรือระบบดิจิทัล รวมถึงอาจมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากรัฐและธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ (Big Brothers) มาคอยให้คำแนะนำหรือชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหา

• มองการพัฒนานวัตกรรมให้นอกเหนือจากเรื่องอาหาร โดยมุ่งเป้าไปที่วัฒนธรรม (Culture Based) สุขภาพ และเกษตรกรรม ด้วยการใช้นวัตกรรมเป็นตัวเชื่อมคุณค่าและความเปลี่ยนแปลง และมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น แพลตฟอร์มบริการการท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับกลุ่มสินค้าฮาลาล (Halal Tourism) การพัฒนายางพาราสู่สินค้าเพื่อสุขภาพ ปาล์มน้ำมันสู่พลังงานทดแทน บริการทางการเงิน เป็นต้น

• การสร้างเครือข่าย (Innovation Regional Connect) และการอบรมให้ความรู้ อาทิ การใช้บิ๊กดาต้าเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงในตลาดนวัตกรรม หรือพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อพัฒนาสินค้าหรือบริการให้มีรูปแบบที่หลากหลาย ส่วนการสร้างเครือข่ายจะต้องดำเนินควบคู่ไปกับหน่วยงานคู่ขนาน เช่น สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าไทย Startup Thailand League เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างครอบคลุมตามที่แต่ละองค์กรมีความเชี่ยวชาญ และสามารถต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอการจัดงานมหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งที่ 2 การจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมฯ และการจัดทำย่านนวัตกรรมในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ Halal Tourism District เพื่อเชื่อมโยงนักท่องเที่ยว จากชายแดน เช่น กลันตัน ตรังกานู ให้เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมสรรหาพื้นที่ ที่มีศักยภาพ หรือความโดดเด่นเฉพาะตัวเพื่อดึงนักธุรกิจให้เข้ามาลงทุน

Avatar photo