Economics

เร่งลงนาม! จ่อยก ‘ตลาดนัดจตุจักร’ ให้กทม.บริหาร 1 ธ.ค.

“การรถไฟฯ” เร่งลงนามยก “ตลาดนัดจตุจักร” ให้ กทม. บริหาร ตั้งเป้าต้องโอนสิทธิ์ได้ภายใน 1 ธันวาคมนี้

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ มีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าบริหารตลาดนัดจตุจักรตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องอัตราค่าเช่าแผงของผู้ค้าในตลาดนัดสวนจตุจักร

โดยขณะนี้การรถไฟฯ ส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วและจะรายงานให้ที่ประชุม ครม. รับทราบต่อไป จากนั้นการรถไฟฯ และ กทม. จะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องการโอนสิทธิ์บริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรให้เร็วที่สุด

S 71385104

เบื้องต้น กทม. จะจัดเก็บค่าเช่าแผงจากผู้ค้ารายย่อยในอัตรา 1,800 บาทต่อเดือน ต่ำกว่าค่าเช่าของการรถไฟฯ ที่จัดเก็บในอัตรา 3,157 บาทต่อแผงต่อเดือน ขณะเดียวกัน กทม. จะต้องจ่ายค่าเช่าให้การรถไฟฯ ในอัตรา 169 ล้านบาทต่อปี พร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขอีก 3-4 ข้อ

“คิดว่าไม่มีอะไรเสียหาย ก็เป็นการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ค้ารายย่อย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดและเขียนสัญญาให้รัดกุม โดยจะพยายามลงนาม MOU กับ กทม. ให้ได้ก่อนภายในเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้สิทธิ์ กทม. ไปบริหารตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้ จากนั้นจะลงนามสัญญากับ กทม. อีกครั้ง โดยสัญญาจะมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป” นายวรวุฒิกล่าว

S 71385103

ให้ กทม. เช่าพื้นที่ 68 ไร่ถึงปี 2571

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนและการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 ซึ่งเห็นชอบให้ลดอัตราค่าเช่าแผงตลาดนัดจตุจักรเหลือ 1,800 บาทต่อแผงต่อเดือน จากปัจจุบันการรถไฟฯ เก็บอยู่ในอัตรา 3,157 บาทต่อแผงต่อเดือน

ทั้งนี้ ถ้าหากการรถไฟฯ บริหารตลาดเองและลดค่าเช่าแผงเหลือ 1,800 บาทต่อเดือน จะส่งผลให้กำไรสุทธิของตลาดนัดจตุจักรลดลงจากเฉลี่ย 213.29 ล้านบาทต่อปี เหลือ 58.67 ล้านบาทต่อปี แต่ถ้าให้ กทม. เข้ามาบริหาร กทม. ก็จะมีกำไรสุทธิเพียงพอและสามารถจ่ายค่าเช่าให้การรถไฟฯ ในอัตราประมาณ 169 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ครม. จึงเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย เร่งโอนความรับผิดชอบในการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรของการรถไฟฯ ไปให้ กทม. โดยเร็ว

เบื้องต้น กทม. จะเช่าพื้นที่ตลาดจตุจักรขนาด 68ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา จากการรถไฟฯ จนถึงปี 2571 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ศูนย์คมนาคมพหลโยธินแปลง D และให้มีการทบทวนค่าเช่าร่วมกันทุกๆ 3 ปี อย่างไรก็ตาม กทม. ไม่สามารถทำสัญญากับผู้เช่าแผงที่มีภาระหนี้สินติดค้างกับการรถไฟฯ ได้ จนกว่าผู้เช่าแผงรายดังกล่าวจะชำระหนี้ทั้งหมด

S 71385101

กังวลศักยภาพ กทม. เผยเคยรายได้สูงสุดแค่ 175 ล้านบาท

รายงานข่าวจากการรถไฟฯ เปิดเผยต่อว่า การบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรของ กทม. ก่อนมอบคืนให้การรถไฟฯ ในช่วงปี 2547-2554 พบว่า กทม. มีรายได้จากการบริหารสูงสุด 175 ล้านบาท และต่ำสุด 88 ล้านบาท โดย กทม. จ่ายค่าเช่าตลาดนัดจตุจักรให้การรถไฟฯ ต่ำสุดที่ 1.6 ล้านบาทต่อปี และสูงสุดที่ 24 ล้านบาทเศษๆ ต่อปีเท่านั้น ซึ่งถือเป็นรายได้ที่น้อยมากเมื่อเทียบมูลค่าเชิงพาณิชย์ที่เกิดในพื้นที่

ต่อมาเมื่อการรถไฟฯ เข้ามาบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรระหว่างปี 2555-2560 ปรากฏว่าองค์กรมีกำไรและรายได้เพิ่มขึ้นโดยตลอด โดยในปี 2555 การรถไฟฯ มีรายได้ 238 ล้านบาทและกำไร 85 ล้านบาท, ปี 2556 มีรายได้ 425 ล้านบาทและกำไร 226 ล้านบาท, ปี 2557 มีรายได้ 434 ล้านบาทและกำไร 243 ล้านบาท, ปี 2558 มีรายได้ 391 ล้านบาทและกำไร 229 ล้านบาท, ปี 2559 มีรายได้ 381 ล้านบาทและกำไร 186 ล้านบาท, ปี 2560 รายได้ 375 ล้านบาทและกำไร 177 ล้านบาท

สำหรับปัจจุบันตลาดนัดจตุจักร มีแผงค้าทั้งหมด 9,495 แผง โดยการรถไฟฯ เก็บค่าโดยสารจากผู้ค้าประมาณ 94% ของจำนวนแผงทั้งหมด ในอัตรา 3,157 บาทต่อแผง และเมื่อรวมกับรายได้อื่นๆ ส่งผลให้การรถไฟฯ มีรายได้จากตลาดนัดจตุจักรเฉลี่ยปีละ 389.31 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิเฉลี่ย 213.29 ล้านบาท

Avatar photo