Economics

ศึกษาเชื่อมต่อ 3 กม. รอบ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ จูงใจคนใช้ขนส่งมวลชน

“สนข.” ศึกษาเชื่อมต่อการเดินทาง 3 กม. รอบ “รถไฟฟ้าสายสีแดง” จูงใจคนใช้ขนส่งมวลชน EV แทนรถยนต์ส่วนตัว

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในฐานะประธานพิธีเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1(ปฐมนิเทศโครงการ) ภายใต้การศึกษาโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทางเพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า

รถไฟฟ้าสายสีแดง feeder

การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในประเทศมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีรถไฟฟ้าให้บริการแล้วถึง 170 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 129 กิโลเมตร และภายในปี 2570 จะเปิดให้บริการตามแผน M-Map ได้ถึง 553 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าไม่ได้จบแค่เพียงที่โครงข่ายรถไฟฟ้าเท่านั้น ยังต้องวางแผนรองรับเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก จากบ้านมายังรถไฟฟ้าและจากรถไฟฟ้าไปยังจุดหมายปลายทางได้ อันจะนำมาสู่การลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงคมนาคมจึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาศึกษาโครงการดังกล่าวขึ้น  เพื่อเป็นการรองรับการเปิดให้บริการ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่จะเปิดให้บริการปลายปี 2564 นี้

ที่ปรึกษาของโครงการจะร่วมกับเจ้าหน้าที่ สนข. ทำการสำรวจและออกแบบระบบเชื่อมต่อการเดินทาง (Feeder) ในพื้นที่ระยะรัศมี 3 กิโลเมตร รอบ ๆ สถานี จำนวนทั้งสิ้น 13 สถานี ได้แก่ (ช่วงบางซื่อ-รังสิต) สถานีบางซื่อ สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ สถานีดอนเมือง สถานีหลักหก สถานีรังสิต (ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน) สถานีบางซ่อน สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบสถานีดังกล่าวมีระบบโดยสารสาธารณะที่จะเดินทางสู่สถานีรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

เส้นทาง รถไฟฟ้าสายสีแดง

นอกจากนั้น ที่ปรึกษาของโครงการจะทำการสำรวจและออกแบบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบสถานี เช่น ทางเดินเท้า Skywalk หลังคาคลุมกันแดดกันฝน จุดจอดรถโดยสารสาธารณะ จุดจอดและจรสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่สถานีของประชาชน

สำหรับการพัฒนาระบบขนส่งเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง หรือ Feeder จะมีการนำยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มาให้บริการ เช่น รถกะป้อไฟฟ้า รถสองแถวไฟฟ้า รถมินิบัสไฟฟ้า เพื่อไม่ไปสร้างปัญหามลพิษด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน

นอกจากนี้ จะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบแอพลิเคชันบนมือถือ มาให้บริการด้านข้อมูลการให้บริการของรถขนส่งสาธารณะ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีทางลาด บล็อกนำทาง ป้ายบอกข้อมูลด้วยเสียง ลิฟต์โดยสาร เพื่อให้ผู้ใช้บริการทุกคนเข้าถึงระบบรถไฟฟ้าได้อย่างเท่าเทียม ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น

เมื่อแผนพัฒนาโครงข่ายการเชื่อมต่อการเดินทางได้มีการนำไปสู่การปฏิบัติ ก็จะจูงใจให้ประชาชนทิ้งรถ แล้วหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย

 อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo