Economics

13 พ.ย.รู้กัน!! 2 เจ้าสัวแข่งเดือดชิงรถไฟความเร็วสูง 1.2 แสนล้าน

อีอีซี รถไฟความเร็วสูง ญี่ปุ่น

หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคาถึง 31 ราย มีทั้งเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ให้ความสนใจ

การเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงครั้งนี้คงไม่มีใครเสนอเข้าประมูลแบบเดี่ยวๆ แต่จะเข้าประมูลแบบจับกลุ่มกันมากกว่า เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่มีระยะทางถึง 220 กิโลเมตร และการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ ในพื้นที่มักกะสันของ รฟท. ประมาณ 150 ไร่ และพื้นที่โดยรอบสถานีศรีราชาอีก 25 ไร่ ที่เปิดให้ผู้ชนะการประมูลสามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ร่วมกับโครงการได้

การประมูลโครงการนี้มีเงื่อนไขพอสมควร แต่ที่น่าสนใจข้อกำหนดการประมูล  1.ต้องเดินรถเป็น 2.ต้องมีผลงานก่อสร้าง 3.ต้องมีผลงานพัฒนาที่ดิน  ขณะเดียวกันในส่วนของผลงานต้องมีใน 3 ด้าน  1.มีผลงานก่อสร้างเคยก่อสร้างทางรถไฟมาก่อน 2.เคยเดินรถไฟความเร็วสูงมาก่อน (ตรงนี้บอกได้เลยบ้านเราไม่มีเอกชนรายใดที่ผ่านคุณสมบัติข้อนี้ จำเป็นต้องอาศัยพันธมิตรต่างชาติในการเดินรถ  3.เคยพัฒนาที่ดินผืนใหญ่มาก่อน  ด้วยข้อกำหนดเหล่านี้จำเป็นที่เอกชนต้อง “จับกลุ่มพันธมิตร”เพราะไม่มีเอกชนรายใดรายหนึ่งสามารถทำได้ครบถ้วนทุกด้าน

เส้นรถไฟในเมือง 01 1

จับตาแข่งตัดราคาชิงรถไฟความเร็วสูง

ฉะนั้นหลังจากที่แต่ละบริษัทมีเอกสารทีโออาร์ในมือแล้ว ระหว่างนี้ผู้สนใจที่จะยื่นประมูลโครงการนี้จริง จึงอยู่ในช่วงการจัดเตรียมเอกสารต่างๆ เพื่อให้ตรงกับที่ทีโออาร์กำหนด รวมไปถึงการคิดคำนวณแผนการก่อสร้างโครงการ ก่อสร้างสถานีรถไฟ แผนการพัฒนาที่ดิน ทั้งหลายทั้งมวลเอกชน  ต้องคิดคำนวณกรอบเงินลงทุนและค่าใช้จ่าย ต้องให้อยู่ในกรอบของวงเงินที่รัฐร่วมลงุทนในโครงการ ไม่เกินจำนวนมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV ) 119,425,750,000 บาท

 งานนี้น่าจะมีการแข่งขันตัดราคากันรุนแรง เพื่อให้ได้งานก่อสร้าง แต่ผู้ชนะน่าจะไปหวังรายได้จากการพัฒนาที่ดินมากกว่า 

ดังนั้นระหว่างนี้ผู้สนใจแต่ละรายต้องคิดคำนวณเงินลงทุนและค่าใช้จ่าย สิ่งสำคัญที่ใครจะเป็นผู้ชนะโครงการนี้ได้ นั่นหมายถึงจะต้องเสนอราคาให้ต่ำที่สุดจากวงเงินที่รัฐบาลตั้งไว้ ส่วนแต่ละกลุ่มจะเสนอในตัวเลขเท่าไหร่ อีกไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้าเราก็จะรู้ผลผู้ชนะที่แท้จริงแล้ว “งานนี้เชื่อว่าจะมีการแข่งขันตัดราคากันรุนแรง เพื่อให้ได้งานก่อสร้าง แต่ผู้ชนะน่าจะไปหวังรายได้จากการพัฒนาที่ดินมากกว่า”

สำหรับผู้เข้าประมูลก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่ผู้ที่ซื้อซองเอกสารทั้ง 31 ราย จะยื่นประมูลแต่สุดท้ายแล้วอาจมีไม่ถึง 5 กลุ่ม  เพราะโดยปกติการประมูลจะมีอยู่ 2 แถว แถวแรกคือ“ผู้รับสัมปทาน” หากใครอยู่แถวแรกจะต้องร่วมลงเงินด้วยอย่างน้อย 5% ของวงเงินก่อสร้าง ส่วนแถวที่สองคือ“ผู้รับเหมาก่อสร้าง” ฉะนั้นผู้ชนะการประมูล สามารถเลือกผู้รับเหมารายไหนก็ได้ให้เป็นผู้ก่อสร้างจะเป็นหนึ่งรายหรือสองรายก็ได้

111 1

จับกลุ่มประมูลยังเลือนลาง

ส่วนจำนวนผู้ที่สนใจซื้อซองเอกสารโครงการนี้ถึง 31 ราย ส่วนใหญ่ซื้อเอกสารไปเพื่อศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขทีโออาร์เสียมากกว่า บางรายอาจจะต้องการขายตัวรถ บางรายอาจต้องการขายอุปกรณ์ บางรายอาจต้องการขอมีส่วนร่วมในการเข้าไปพัฒนาที่ดิน หรือไม่บางรายอาจจะเป็นผู้รับเหมาช่วงของโครงการได้

ความที่เป็นโครงการขนาดใหญ่คงไม่สามารถทำให้ใครเข้าไปเดี่ยวๆได้ ทำได้ต้องจับกลุ่มเข้าไป แต่สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควรว่า ใครจะจับกลุ่มกับใครบ้าง ที่ดูเหมือนชัดเจนเวลานี้เห็นทีจะเป็นการจับกลุ่มของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)  ,บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) เท่านั้นที่ดูเหมือนมีการเซ็นเอ็มโอยูจับกลุ่มไว้แล้วเรียกว่า กลุ่ม”BSR”

cpbts logo

ปตท.ลังเลร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูง

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (ประเทศไทย) มีความสนใจที่จะจับกลุ่มกับกลุ่ม“BSR” ในโครงการรถไฟความเร็วสูง  แต่เนื่องจากช่วงหลังมีกรรมการปตท.หลายคนยังมีความเห็นต่างกับเรื่องที่บริษัทจะเข้าไปลงทุน จึงต้องเสนอคณะกรรมการปตท.พิจารณาอีกครั้ง วันที่ 28 กันยายนนี้ ว่ายังจะให้บริษัท เอนเนอร์ยี่ฯ ดำเนินการต่อไปหรือไม่  ประกอบกับปัจจุบันปตท.เองยังถูกกระแสสังคมวิพากวิจารณ์การลงทุนนอกเหนือจากธุรกิจน้ำมัน

หลายคนมีการตั้งข้อสังเกตว่าการเข้าไปซื้อเอกสารการประมูลของโครงการนี้ในส่วนของบริษัท เอนเนอร์ยี่ ฯ ช่วงแรกๆอาจเป็นเพราะมีการร้องขอจากผู้ใหญ่บางคน ในรัฐบาล เพราะเห็นว่าปตท.เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีเงินทุนมหาศาล และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าโครงการนี้มีผู้สนใจที่จะเข้ามาลงทุน

“สุดท้ายแล้วสำหรับปตท.เมื่อมีผุ้อื่นสนใจลงทุนกันมาก ปตท.เองก็ไม่จำเป็น น่าจะปล่อยให้ผู้ลงทุนรายอื่นทำดีกว่า ส่วนปตท.ก็ควรไปขยายการลงทุนของตัวเองน่าจะดีกว่า”

อย่างไรก็ดี การเข้าประมูลครั้งนี้ กลุ่มที่น่าจะมีการแข่งขันกันดุเดือดเห็นทีจะเป็นกลุ่มของ เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการบริหาร บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และกลุ่มของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย) ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ น่าจะมีการห้ำหั่นราคากันน่าดู ส่วนกลุ่มอื่นดูเหมือนจะยังไม่ค่อยมีความชัดเจนสักเท่าไหร่ ส่วนบริษัทต่างชาติไม่น่าจะเข้ามาแข่งโดยตรง แต่จะเข้ามาในลักษณะพันธมิตรมากกว่า

 โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินv5

13 พ.ย.นี้ รู้ผลใครคว้าชัยชนะ

ทั้งนี้ตามไทม์ไลน์ของรฟท.ได้กำหนดจัดให้สนใจเข้าประมูลยื่นซองเสนอราคา วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ตั้งแต่เวลา 9.00น. -15.00 น. ที่สำนักงานโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน

จากนั้น วันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 เวลา 10.00 น น่าจะเป็นวันที่ลุ้นระทึกอย่างยิ่งสำหรับผู้เสนอตัวเข้าประมูล เพราะนั่นหมายถึงเป็นวันที่รู้ว่า กลุ่มไหนจะได้งานไปและเป็นเจ้าของสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงจากรัฐบาลชุดนี้ไปครอบครองได้ ส่วนจะเป็นค่ายไหนของเจ้าสัวไหน ก็จะได้รู้กัน ที่สำคัญจะเป็นไปอย่างที่มีหลายฝ่ายคาดหมายกันไว้หรือไม่

พัฒนาที่ดิน 2 จุดไข่แดงโครงการ

จุดที่น่าสนใจของโครงการนี้ไม่ได้อยู่ที่การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสักเท่าไหร่ แต่ความน่าสนใจอยู่ที่การพัฒนาที่ดิน ที่เห็นชัดๆมีอยู่ 2 จุดใหญ่ๆด้วยกันนั่นคือ การพัฒนาที่ดินบริเวณมักกะสันเนื้อที่ 150 ไร่ และที่ดินโดยรอบสถานีศรีราชาอีก 25 ไร่ นี่เป็นที่ดินที่เกิดขึ้นจากโครงการรถไฟความเร็วสูง  การพัฒนาที่ดิน 2 จุดนี้ น่าจะเป็น“ไข่แดง”ของโครงการนี้มากกว่า โดยเฉพาะพื้นที่มักกะสันที่ใครต่อใครก็อยากจะเข้าไปพัฒนา แต่ก็ไม่สำเร็จสักที

จุดเด่นของการพัฒนาที่ดิน 2 จุดนี้ ผู้ชนะการประมูล  สามารถเสนอแผนพัฒนาที่ดินของตัวเองได้ ในระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี

หลายคนมองว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้น ไม่น่าจะคุ้มค่าต่อการลงทุนสักเท่าไหร่ แต่จุดที่ทำให้คุ้มค่าการลงทุนและมีกำไร น่าจะมาจากการพัฒนาที่ดินมากกว่า และจะคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น และหากซีพี เป็นผู้คว้าชัยชนะโครงการนี้ไป นั่นหมายถึงจะได้รับอานิสงส์มูลค่าที่ดินที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากจะมีสถานีรถไฟเกิดขึ้น อานิสงส์ตรงนี้คุ้มค่ายิ่งกว่าลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง

 ผู้ที่สนใจซื้อเอกสารก่อนหน้านี้

1. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)
​2. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย)
3. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)
​4. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)
​5. บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (ประเทศไทย)
6. ITOCHU Corporation (ประเทศญี่ปุ่น)
​7. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (ประเทศจีน)
8. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)
9. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทย
10. บริษัท ฟูจิตะ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น)
11. China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
12. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)
13. บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)
14. บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)
15. CHINA RAILWAY GROUP LIMITED (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
16. China Communications Construction Company Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
17. China Resources (Holdings) Company Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
18. CITIC Group Corporation (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
19. Korea-Thai High-speed Railroad Consortium Inc. (ประเทศไทย)
20. บริษัท เทอดดำริ จำกัด (ประเทศไทย)
21. Salini Impregio S.p.A. (ประเทศอิตาลี)​
22. บริษัท ฮิตาชิ เอเซีย (ประเทศไทย) จำกัด (ประเทศไทย)
23. TRANSDEV GROUP (ประเทศฝรั่งเศส)
24. SNCF INTERNATIONAL (ประเทศฝรั่งเศส)
25. Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development (ประเทศญี่ปุ่น)
26. บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)
27. บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)
28. บจก. แอล เอ็ม ที สโตน (ประเทศไทย)
29. WANNASSER INTERNATIONAL GREEN HUB BERHAD (ประเทศมาเลเซีย)
30. บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
31. MRCB Builders SDN. BHD. (ประเทศมาเลเซีย)

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight