Economics

บอร์ดนัดพิเศษไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้าน

ภคพงษ์ ศิริกันทรมาศ
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ

“บอร์ด รฟม.” ประชุมนัดพิเศษ! เห็นชอบรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก 1.43 แสนล้านบาท เตรียมเสนอเข้าคมนาคมในสัปดาห์นี้ คาดเปิดประมูลได้ในปี 2562

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. นัดพิเศษ มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร และการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงินรวม 1.43 แสนล้านบาท

โดย รฟม. เป็นผู้เสนอให้บอร์ดประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 7 กันยายน เพราะต้องการนำความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไปรายงานต่อคณะกรรมนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธาน ซึ่งมีนัดประชุมในวันนี้ (10 ก.ย.)

“ที่ผ่านมาเราใช้เวลาศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มหลายเดือน ซึ่งเวลามีประชุมคณะกรรมการพีพีพี ท่านสมคิดก็จะคอยสอบถามและติดตามโครงการนี้ ทาง รฟม. จึงเร่งรัดและขอให้บอร์ดประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 7 กันยายน เพื่อพิจารณาโครงการ ซึ่งบอร์ดก็ให้ความกรุณาร่วมประชุมและได้พิจารณาเห็นชอบ รฟม. จึงได้นำความคืบหน้าดังกล่าวไปรายงานต่อบอร์ดพีพีพีในวันนี้” นายภคพงศ์กล่าว

หลังจากนี้ รฟม. จะเสนอผลการศึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและงานเดินรถให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นคาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการพีพีพีเห็นชอบได้ราวปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน และเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในภายในปีนี้

ในปี 2562 จะเป็นช่วงร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) และเปิดประมูลหาผู้รับสัมปทาน คาดว่าจะต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี จึงทราบผลและเริ่มก่อสร้าง โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ได้ก่อน ในปี 2566 และเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ในปี 2568

S 66166910

เอกชนลงทุนงานโยธาก่อน 9.6 หมื่นล้านบาท รัฐบาลจ่ายคืนใน 10 ปี

นายภคพงศ์ กล่าวว่า โครงการมีวงเงินลงทุนรวมทั้งหมด 1.43 แสนล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถ การเดินรถ 3.2 หมื่นล้านบาท

รูปแบบการลงทุนจะเป็น PPP Net Cost จำนวน 1 สัญญา โดยเอกชนต้องแข่งขันยื่นข้อเสนอใน 2 ส่วน

1) ค่าก่อสร้างงานโยธา 96,000 ล้านบาท ซึ่งเอกชนจะต้องเป็นฝ่ายลงทุนก่อน จากนั้นรัฐบาลจะทยอยคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยภายใน 10 ปี นับตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดให้บริการ โดยเอกชนจะต้องแข่งขันว่า รายใดจะเสนอต้นทุนค่าก่อสร้างและอัตราดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่ากัน

“การลงทุนรูปแบบนี้จะช่วยกระจายภาระของรัฐบาล เพราะถ้ารัฐบาลกู้เงินมาลงทุนเอง ก็จะถูกบันทึกหนี้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มก่อสร้าง แต่ถ้าให้เอกชนลงทุนก่อน แล้วจ่ายคืนภายหลัง ก็เท่ากับรัฐบาลเริ่มมีภาระหนี้สินหลังจากรถไฟฟ้าเปิดให้บริการ ซึ่งจะช่วยรักษาสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม” นายภคพงศ์กล่าว

2) งานระบบอาณัติสัญญาณ ขบวนรถ และงานเดินรถ ระยะเวลา 30 ปี วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเอกชนจะต้องเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด โดยเอกชนต้องแข่งกันยื่นข้อเสนอว่า รายใดจะรับผลประโยชน์จากค่าโดยสารและพื้นที่เชิงพาณิชย์ต่ำกว่ากัน เพราะยิ่งเอกชนรับผลประโยชน์ต่ำเท่าไหร่ ก็จะทำให้รัฐบาลได้รับผลประโยชน์ส่วนที่เหลือมากขึ้นเท่านั้น

ทั้งนี้ รฟม. จะมอบพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในโครงการให้เอกชนบริหารทั้งหมด เพราะการลงทุนแบบ PPP Net Cost ที่ผ่านมา ก็รวบรวมงานทั้งหมดให้เป็นสัมปทานอยู่แล้ว แตกต่างจากการลงทุนรูปแบบ PPP Gross Cost ที่รัฐบาลจะจ้างเอกชนลงทุน แต่บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วยตัวเอง

rff

“จะมีคนสนใจแค่ไหนก็ต้องลองดู เพราะไฮสปีดในอีอีซี วงเงินเป็นแสนล้านบาทก็ยังมีคนสนใจ อีกทั้งอันนี้เป็นโครงการลงทุนระบบราง ซึ่งประเทศไทยก็เป็นที่สนใจของต่างประเทศอยู่แล้วด้วย” นายภคพงศ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา บอร์ด รฟม. เพิ่งตีกลับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดย รฟม. คาดว่าอาจเสนอเรื่องให้บอร์ดพิจารณาได้อีกครั้งในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ แต่ รฟม. ได้เชิญบอร์ดประชุมนัดพิเศษก่อนในวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อนำความคืบหน้า ซึ่งเป็นผลงานขององค์กร รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการพีพีพีให้ทันในวันนี้ (10 ก.ย.)

นอกจากนี้ รฟม. ยังเตรียมเสนอการเปิดประมูล โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ วงเงิน 101,112 ล้านบาท ให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาในปลายเดือนกันยายนนี้ด้วย

Avatar photo