Economics

บอร์ดนกแอร์จ่อโละผู้ถือหุ้น ‘นกมั่งคั่ง-นกสกู๊ต’

นกแอร์2

การยื่นลาออกของนายปิยะ ยอดมณี จากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK และกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 และพ้นจากการเป็นพนักงานบริษัทวันที่ 22 กันยายน 2561

การลาออกของนายปิยะ ทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นว่า เป็นเพราะถูกแรงบีบจากผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือเกิดจากคณะกรรมการนกแอร์เอง หรือเป็นเพราะเจ้าตัวอยากลาออกเอง

ปิยะ ยอดมณี

เบื้องหลัง”ปิยะ”ไขก๊อกพ้นซีอีโอนกแอร์

แหล่งข่าวจากนกแอร์ กล่าวว่าสาเหตุการลาออกของนายปิยะ ส่วนหนึ่งมาจากการประชุมคณะกรรมการนกแอร์เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งนายปิยะ ได้เสนอแผนฟื้นฟูให้ที่ประชุมพิจารณา โดยแผนฟื้นฟูนกแอร์ครั้งนี้จะต้องใช้เงินจำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้ที่ “กลุ่มจุฬางกูร” ให้กู้เป็นเงินก้อนที่ 2 เพื่อใช้ตามแผนฟื้นฟูนกแอร์

ก่อนที่จะมีการประชุมนายปิยะ ได้หารือร่วมกับกรรมการคนหนึ่งของนกแอร์ ได้รับคำยืนยันว่าจะช่วยชี้แจงเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูในที่ประชุมบอร์ด

“ปรากฎว่าเมื่อแผนฟื้นฟูถูกเสนอเข้าที่ประชุม กรรมการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแผนที่เสนอมา มีการท้วงติงพอสมควร  ขณะที่กรรมการนกแอร์ ที่รับปากว่าจะช่วยชี้แจงและทำความเข้าใจกับบอร์ด  แต่กลับไม่เห็นด้วยขึ้นมากลางคัน เสมือนเทนายปิยะกลางที่ประชุม จึงเป็นเหตุทำให้แผนฟื้นฟูนกแอร์ไม่ผ่านการพิจารณา” แหล่งข่าวกล่าว และว่า ประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นายปิยะไม่พอใจ นำไปสู่การตัดสินใจลาออกด้วย

อย่างไรก็ดี ตามแผนให้เงินกู้ของ“กลุ่มจุฬางกูร” เห็นชอบที่จะให้กู้ยืมเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท โดยก้อนแรก 500 ล้านบาท ออกตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 12 เดือน เพื่อใช้ในการดำเนินงานทั่วไป และให้บริษัทมั่งคั่ง จำกัด  หรือนกมั่งคั่ง กู้ยืมเพื่อลงทุนในบริษัทสายการบินนกสกู๊ต จำกัด  เงินกู้ส่วนนี้บอร์ดนกแอร์เห็นชอบไปแล้ว

3 21

ตะลึงนกแอร์ใส่เงินเพิ่มทุนนกสกู๊ต

การกู้เงินจาก “กลุ่มจุฬางกูร” ก้อนแรก 500 ล้านบาทโดยนกแอร์ เพื่อให้นกมั่งคั่งนำไปเพิ่มทุนในนกสกู๊ต  กำลังทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมนกแอร์ ต้องเป็นผู้กู้เงินจำนวนดังกล่าวเอง เพราะผู้ถือหุ้นในนกมั่งคั่งยังมีนายพาที สารสิน  ถือหุ้นอยู่ 50%  เป็นที่สงสัยว่านายพาที ได้มีการลงเงินเพื่อเพิ่มทุนในนกสกู๊ตด้วยหรือไม่  ทำไมนายพาที ยังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในนกมั่งคั่ง ทั้งๆ ที่ปัจจุบันนายพาที ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับนกแอร์แล้ว

“การที่นกแอร์กู้เงินจากกลุ่มจุฬางกูร 500 ล้านบาท ผ่านนกมั่งคั่งเพื่อเพิ่มทุนในนกสกู๊ต ดูเหมือนมีความสับสนอยู่พอสมควร”

พาที ปิยะ2

รื้อใหญ่โครงสร้างผู้ถือหุ้นนกมั่งคั่ง

เรื่องดังกล่าวผู้บริหารบอร์ดนกแอร์อธิบายว่า การตั้งบริษัทมั่งคั่งขึ้นมา เกิดจากโครงสร้างเดิมที่ทำไว้ เพื่อให้เป็นตัวกลางเข้าไปลงทุนในนกสกู๊ตอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเป็นโครงสร้างที่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในไม่ช้า ยอมรับว่าสับสนพอสมควร กับการบริหารจัดการของนกแอร์ในอดีตที่ผ่านมา

ในส่วนของนกมั่งคั่ง มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เป็นบริษัทที่ไปลงทุนในนกสกู๊ต ซึ่งเป็นกลไกของนกแอร์ที่มีการจัดโครงสร้างไว้ก่อนหน้านี้ โดยการถือหุ้นเป็นแบบ หุ้นบุริมสิทธิ ไม่มีสิทธิในการบริหาร ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงได้ผลตอบแทนตามที่กำหนด ดังนั้นเงินที่นกแอร์ใส่เข้าไปในนกมั่งคั่ง ก็ต้องนำไปลงทุนตามที่นกแอร์ต้องการ นั่นคือการลงทุนในนกสกู๊ต

โครงสร้างผู้ถือหุ้น 3 บริษัทv3

ตามโครงสร้างของนกมั่งคั่งนั้น ถือหุ้นโดยนายพาที สารสิน  และนกแอร์ ฝ่ายละ 50%  ขณะที่นกสกู๊ต ถือหุ้นโดยนกมั่งคั่ง 49%  สิงคโปร์แอร์ไลน์ 49% และบริษัทเพื่อนน้ำมิตร 2% โดยมีนายปิยะ ยอดมณี เป็นผู้ถือหุ้น

อย่างไรก็ตาม การที่มีคนที่เคยมีสายสัมพันธ์ถือหุ้นอยู่ในนกมั่งคั่งนั้น เป็นโครงสร้างเดิมทำกันมาอย่างนั้น

“แต่หลังจากนายพาทีและนายปิยะ ออกไปแล้ว หลังจากนี้คงต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันใหม่ อาจจะทำให้คนสงสัยทำไมผู้บริหารนกแอร์ไปถือหุ้นในนกมั่งคั่ง ก็ยอมรับว่าเป็นโครงสร้างที่ทำกันมาก่อนหน้านี้ นกแอร์เองก่อนหน้านี้ก็รับรู้สิ่งเหล่านี้ แต่ในเมื่อวันนี้ 2 ผู้บริหารออกไปแล้วเราก็ต้องปรับโครงสร้างใหม่ให้มันเป็นไปตามที่ควรจะเป็น”

หวังเพิ่มทุนนกสกู๊ตช่วยเกื้อหนุนนกแอร์

สำหรับเรื่องการเพิ่มทุนในนกสกู๊ตนั้น ที่ปรึกษาทางการเงินเกี่ยวกับแผนเพิ่มทุน เชื่อว่า จะช่วยสร้างโอกาสให้กับนกแอร์ ในการขยายธุรกิจการบิน ราคาประหยัดมากขึ้นด้วยการเพิ่มจำนวนรอบการบิน และขยายเส้นทางการให้บริการ ซึ่งเป็นการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อ ทำให้สามารถขยายต้นทางและปลายทางให้กับนกแอร์ได้

ขณะเดียวกันยังส่งผลให้นกสกู๊ต สามารถขยายส่วนแบ่งการตลาด การให้บริการเส้นทางการบิน ที่เป็นที่นิยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เป็นภูมิภาคที่มีประชากรมาก  มีอัตราการขยายตัวของผู้โดยสาร ที่ต้องการใช้บริการ และการปรับเพิ่มจำนวนฝูงบินและปรับลดค่าใช้จ่ายในการบริหารตามแผนงานของฝ่ายบริหาร นกแอร์  นกสกู๊ต จะมีโอกาสพลิกฟื้นผลการดำเนินงานให้กลับมาเป็นบวกได้

นกแอร์1

“เวียดเจ็ท-สิงคโปร์แอร์ไลน์”สนถือหุ้นนกแอร์

ขณะที่แหล่งข่าวจากนกแอร์ กล่าวว่า ในส่วนของนกแอร์หลังจากนี้จะต้องเร่งปรับปรุงการบริหารงานให้ดีขึ้น และจำเป็นต้องมองหาพันธมิตรร่วมทุนด้วย ขณะนี้มีแอร์ไลน์หลายรายสนใจที่จะเข้ามาถือหุ้น อาทิ สิงคโปร์ แอร์ไลน์เอง หรือแม้แต่สายการบินเวียดเจ็ท ก็อยากจะเข้ามา แต่เรายังไม่ได้ตัดสินใจอะไร เพราะต้องให้ผ่านช่วงนี้ไปก่อน ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่

แต่ในระยะสั้นต้องบริหารจัดการนกแอร์ ให้ดีกว่านี้  ปีนี้เป็นปีที่เราปรับตัวเราเอง ส่วนปีหน้าก็ต้องดำเนินการเต็มที่ ดังนั้นปีนี้สิ่งที่ดำเนินการอยู่ตอนนี้ เราต้องดูเรื่องของต้นทุน สัญญาที่คั่งค้าง ว่ามีภาะรจะปรับแก้ไขได้อย่างไร การปรับตารางบินจะเป็นอย่างไร การใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และจะเพิ่มขึ้นอย่างไร รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนใหญ่เป็นงานที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น

สำหรับผลประกอบการนกแอร์ในช่วงสิ้นไตรมาส 2 ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ขาดทุน  856.62 ล้านบาท  ส่วนปี2560 ขาดทุน 1,854.30 ล้านบาท  ปี2559 ขาดทุน 2,795.09 ล้านบาท

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight