Economics

‘เทวินทร์’ ทิ้งทวนตีกันประชานิยมนำนโยบายพลังงาน

‘เทวินทร์’ ทิ้งทวน เสนอ 10 ประเด็นส่งตรงรัฐบาลมุ่งสร้างสมดุลและความมั่นคงให้กับพลังงาน หลังพบไทยเผชิญกับความท้าทาย 3 เรื่อง สำรองน้อย-ใช้พลังงานไม่มีประสิทธิภาพ-แผนบริหารจัดการพลังงานไม่ต่อเนื่อง ย้ำเป็นห่วงนโยบายประชานิยมนำนโยบายพลังงาน

152694

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานเสวนาเรื่อง “โฉมหน้าพลังงานไทย ยุค Disruptive Technology” จัดโดยชมรมวิทยาการพลังงาน ว่าพลังงานในอนาคตพลังงานของโลกจะเดินไปสู่ 2 เรื่อง คือ 1.การใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 2. การใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

โดยปัจจุบันสัดส่วนการใช้พลังงาน เป็นน้ำมัน 33% ถ่านหิน 28% ก๊าซธรรมชาติ 24% พลังงานหมุนเวียน 11% และนิวเคลียร์ 4% แต่อนาคตพลังงานหมุนเวียนจะมีอัตราการเติบโตสูง ข้อมูลจาก BP Energy Outlook คาดการณ์โฉมหน้าของการใช้พลังงานของโลกในอีก 22 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2583 ไว้ 2 ทาง ทางเลือก 1.พลังงานฟอสซิลจะยังเป็นพลังงานหลัก อัตราการใช้พลังงานหมุนเวียนเติบโตปกติ ทำให้สัดส่วนการใช้พลังงานของโลกพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 21 % ก๊าซธรรมชาติ 26% น้ำมัน 27% ถ่านหิน 21% และนิวเคลียร์ 5%

ทางเลือกที่ 2. คาดการณ์ว่าพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนก้าวกระโดดเป็น 41% ส่วนน้ำมัน 22% ก๊าซธรรมชาติ 19% และถ่านหิน 10% นิวเคลียร์ 8%  ซึ่งสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นำมาสู่ความท้าทายในการบริหารจัดการของหลายประเทศทั่วโลกทั้งในประเด็นเรื่องเสถียรภาพ การพยากรณ์ ความมั่นคง ต้นทุนและความเหมาะสม

อย่างไรก็ตามในส่วนของฟอสซิลแล้ว เชื่อว่าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จะเป็นพลังงานที่เติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.9% ต่อปี ขณะที่ก๊าซธรรมชาติเติบโต 1.6% ต่อปี เนื่องจากแอลเอ็นจีสามารถจัดหาจากแหล่งที่อยู่ไกลได้ และมีกำลังผลิตมากพอ โดยปัจจุบันมีประเทศส่งออกแอลเอ็นจีถึง 19 ประเทศ กำลังผลิต 345 ล้านตันต่อปี (MPTA of nameplate Capacity)

ทั้งนี้การบริหารจัดการพลังงานในอนาคต จะต้องคำนึงถึงความสมดุล ( Trade-off)  ระหว่างความมั่นคงทางพลังงาน การเข้าถึงพลังงานของคนในประเทศในราคาที่เหมาะสม และมีความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

สำหรับสถานการณ์พลังงานของประเทศไทยนายเทวินทร์ กล่าวว่า ต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่ 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.ศักยภาพของทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีน้อยลง 2.การใช้พลังงานขาดประสิทธิภาพ และ3.แผนบริหารจัดการพลังงานขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสำรองก๊าซธรรมชาติน้อยลง โดย 3 แหล่งสำคัญ ประกอบด้วย แหล่งบงกชใต้ สำรอง 1.24 ล้านล้านลบ.ฟุต บงกชเหนือ 5.2 ล้านล้านลบฟุต แหล่งอาทิตย์ 1.21 ล้านล้านลบ.ฟุต ขณะที่มีกำลังผลิต 315 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน 605 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และ 233 ล้านลบ.ฟุตต่อวันตามลำดับ มีแหล่งน้ำมัน 0.3 ล้านบาร์เรลคิดเป็น 0.02 %ของโลก ในปี 2560 เราจึงต้องนำเข้าพลังงานเป็นสัดส่วนสูงถึง 1.02 ล้านล้านบาท

แม้สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้น แต่ในระยะ 20 ปีไทยจะต้องพึ่งพาแอลเอ็นจีมากขึ้น ตามแผนจัดหาก๊าซฯรองรับความต้องการใช้ในระดับ 5,062 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน

นายเทวินทร์ กล่าวว่า ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายในหลายๆด้าน จึงต้องการเสนอ 10 เรื่องไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1. ให้ระบบสัมปทานมีเงื่อนไขสมดุล 2.กำกับการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมใน ประเทศให้มีความต่อเนื่องและเกิดประโยชน์สูงสุด 3.สนับสนุนบริษัทน้ำมันของชาติให้เข้มแข็งไปหาปิโตรเลียมทั่วโลก 4.พัฒนาระบบขนส่งมวลชน ระบบราง ระบบท่อ  5.ส่งเสริมธุรกิจปิโตรเลียมในประเทศให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม  6. การกำนดนโยบายเชื้อเพลิงที่ชัดเจน เพื่อสนับสนุนพลังงาน ทดแทนและพลังงานทางเลือก  7.กำหนดโครงสร้างภาษีภาษีและกองทุนน้ำมันเพื่อให้ผู้บริโภคในปัจจุบันร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายในการเตรียมการในอนาคต 8.ส่งเสริมการอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน 9.สนับสนุนให้องค์กรกำกับดูแลสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ 10.เผยแพร่ข้อมูลอย่างโปร่งใส และถูกต้องให้กับประชาชน

“ผมจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งซีอีโอปตท.ในไม่กี่วัน สิ่งที่ผมเป็นห่วง ก็คือ การเอานโยบายประชานิยมมานำหน้านโยบายพลังงาน ซึ่งจะนำมาสู่การตรึงราคาพลังงาน ที่สำคัญก็คือองค์กรกำกับดูแลต้องเป็นอิสระจากประเด็นการเมือง” นายเทวินทร์ กล่าวย้ำ

Avatar photo