Economics

กกพ.เตรียมไฟเขียว ‘บี.กริม.’ ได้ใบอนุญาตดำเนินการ แอลเอ็นจี เป็นรายที่ 5 รับเปิดเสรีก๊าซฯ

รับเปิดเสรีก๊าซฯ กกพ.เตรียมไฟเขียว “บี.กริม.” ได้ใบอนุญาตดำเนินการแอลเอ็นจี เป็นรายที่ 5 ต่อจากปตท.-กฟผ.-กัลฟ์-บริษัท หินกอง  

20180112 MIS02 01 1

ในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะพิจารณาให้ใบอนุญาตดำเนินการ จัดหา และค้าส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (Shipper) ให้กับบริษัทบี.กริม เพาเวอร์ จำกัด เป็นรายที่ 5 สำหรับใช้ใน 5 โรงไฟฟ้าผู้ผลิตเอกชนรายเล็กประเภททดแทน (SPP Replacement)หลังจากให้ไปปรับตัวเลขใหม่ให้นำเข้าเท่าที่ใช้จริง

โดยก่อนหน้านี้กกพ.ให้ให้ใบอนุมัติกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) เพื่อใช้ในการจัดหา และค้าก๊าซฯ (Shipper) 3 แสนตันต่อปี เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก( SPP) จำนวน 19 โครงการของกลุ่มบริษัท และบริษัท หินกอง เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) จำนวน 1.4 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ตำบลหินกอง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี กำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2567 และ 2568 ทั้งนี้บริษัทหินกองฯ เป็นบริษัทร่วมทุนที่กัลฟ์ ถือหุ้น 49% และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น51%

ทั้งนี้รายงานข่าวแจ้งว่า การอนุมัติของกกพ.เป็นใบอนุญาตดำเนินการ เพื่อนำไปใช้ในการประสานงานกับบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ในการใช้สถานีรับจ่ายแอลเอ็นจี และท่อส่งก๊าซฯ โดยกกพ.จะพิจารณาบนหลักการของกำลังรับของ ท่าเทียบเรือและสถานีรับจ่ายมาบตาพุด แอลเอ็นจี เทอร์มินัล ซึ่งเป็นสถานีหลักในปัจจุบัน มีความสามารถในการแปรสภาพแอลเอ็นจีเป็นก๊าซ 11.5 ล้านตันต่อปี หรือ 1,610 ลบ.ฟุตต่อวัน

ลูกค้าหลัก คือ ปตท. ซึ่งมีสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาว 5.2 ล้านตันต่อปี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้รับการอนุญาตให้นำเข้าจากตลาดจร (Spot) 2 ลำ ลำแรก 65,000 ตันนำเข้าเมื่อเดือนธันวาคม 2562 และลำที่ 2 นำเข้าไปเมื่อเดือนเมษายน 2563 อีก 65,000 ตัน ดังนั้นการขออนุญาตดำเนินการจะต้องสอดคล้องกับศักยภาพของสถานีรับจ่ายดังกล่าว

ส่วนการขยายท่าเทียบเรือ และสถานีรับจ่ายแอลเอ็นจี แห่งที่ 2 ที่หนองแฟบ จังหวัดระยอง มีศักยภาพในการแปรสภาพแอลเอ็นจีเป็นก๊าซฯได้ 7.5 ล้านตันต่อปี หรือ 1,050 ลบ.ฟุตต่อวัน อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะแล้วเสร็จในปี 2565

หลังจากนี้จะมีโรงไฟฟ้ามาขออนุญาตดำเนินการเพิ่มหรือไม่ รายงานข่าวจากกกพ. ระบุว่า ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง เพราะการนำเข้าเอง ก็มีความเสี่ยงมากกว่าที่ซื้อจากปตท. แม้ตอนนี้ราคาแอลเอ็นจีจะต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย แต่อนาคตไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับกำลังผลิต และความต้องการของตลาดโลก

Avatar photo