‘ราช กรุ๊ป’ ปักเป้าเพิ่มมูลค่ากิจการเป็น 2 แสนล้านบาท ปี 2566 พร้อมลุยลงทุนต่อเนื่อง ปี 63 เตรียมเงินกว่า 20,000 ล้าน จัดงบซื้อกิจการ 14,000 ล้านบาท สางโครงการค้างท่อ 6,000 ล้าน เดินหน้าโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ล่าสุดเข้าร่วมกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ พัฒนาระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ มูลค่ากว่า 60,000 ล้าน เผยผลดำเนินงานรอบ 9 เดือนแรก 62 กวาดกำไร 5,058.41 ล้าน
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในปี 2563 บริษัทได้ตั้งวงเงินลงทุนไว้รวม 20,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 6,000 ล้านบาท อีกกว่า 14,000 ล้านบาท เตรียมไว้สำหรับซื้ อและควบรวมกิจการ (M&A)เพื่อให้บริษัทมีกำลังผลิตใหม่เข้ามา 700-800 เมกะวัตต์ต่อปีทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุลง
เป้าหมายใหญ่ของบริษัทใน 5 หรือภายในปี 2566 บริษัทจะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ เป็นสัดส่วนพลังงานทดแทน 20% หรือ 2,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังผลิตรวม 9,341 เมกะวัตต์ ซึ่งเดินเครื่องแล้ว 7,057 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างพัฒนาและก่อสร้าง 2,284 เมกะวัตต์ มูลค่ากิจการปี 2566 เพิ่มเป็น 200,000 ล้านบาทจากปัจจุบัน 100,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันสัดส่วนการลงทุน เป็นไฟฟ้าและพลังงาน 80% และระบบสาธารณูปโภค 20% จากเดิมมีสัดส่วน 95:5 % และสัดส่วนรายได้มาจากในประเทศ และต่างประเทศเท่ากัน 50:50 % จากปัจจุบัน 70:30 %
อย่างไรก็ตามในสัดส่วนของพลังงานทดแทนปัจจุบันอยู่ที่ 13% แล้ว ดังนั้นเป้าหมาย 20% อาจจะทำได้ก่อนปี 2566 เพราะมีพลังงานลมยานดิน กำลังผลิต 214.2 เมกะวัตต์ และคอลเลกเตอร์ กำลังผลิต 226.8 เมกะวัตต์ ที่ออสเตรเลีย ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 70% และ 100% ตามลำดับ จะเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2563 และปี 2564
นอกจากนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เวียดนามและอินโดนิเซีย ก็อยู่ระหว่างเจรจาโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายโครงการ ส่วนในประเทศอยู่ระหว่างพัฒนาโรงไฟฟ้าหินกอง 1 และ 2 จังหวัดราชบุรี รวม 1,400 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2567 และปี 2568
สำหรับโครงการที่เข้ามาในปีนี้ บริษัทได้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นจากโครงการเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น ถือหุ้น 35% ซึ่งเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนมิถุนายน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน 1 ประเทศอินโดนีเซีย ถือหุ้น 26.61% เมื่อปลายปีที่แล้ว และคาดหมายว่าโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนเซน้ำน้อย จะเริ่มสร้างรายได้เสริมความมั่นคงทางการเงินของบริษัทได้ในปลายปีนี้ และจะรับรู้ส่วนแบ่งเต็มที่ในปี 2563 เป็นต้นไป ซึ่งในส่วนของโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรเชั่นนั้น เกิดจากเราเข้าไปซื้อหุ้นจาก บริษัทนวนครการไฟฟ้า จำกัด สัดส่วน 99.97% ใช้เงินกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อสร้างฐานลูกค้าในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนครใต้ และลูกค้าอุตสาหกรรมอื่นๆต่อไป
ทางด้านกิจการสาธารณูปโภค บริษัทได้เข้าร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (BGSR) ประมูลโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่าประมาณ 33,000 ล้านบาท และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่าประมาณ 28,000 ล้านบาท รวม 60,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากกรมทางหลวงเรียบร้อยแล้ว
รวมถึงการเดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลือง ที่เรามีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้ว 40% คาดว่าในปี 2564 จะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งสองสาย ส่วนโครงข่ายใยแก้วนำแสงใต้ดินที่ขนานไปกับมอเตอร์เวย์ จะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และเรากำลังสนใจลงทุนโครงการวางระบบ IOT (Internet of Things) ที่จะมีความชัดเจนในระยะต่อไป
“เราเข้ามาในกิจการสัมปทานสาธารณูปโภคระยะยาว เพราะเป็นโครงการที่มีความมั่นคง มีผลตอบแทนชัด และความเสี่ยงไม่มาก เพราะเป็นสัญญากับรัฐ “
ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิต ตามสัดส่วนการลงทุนรวมทั้งสิ้น 7,057 เมกะวัตต์ มีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และทยอยจ่ายกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปี 2563 ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย 102.5 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย 24 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน 149.94 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ในปี 2563 เริ่มรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากกำลังผลิตที่เข้าใหม่ รวมทั้งสิ้น 276.43 เมกะวัตต์
หากรวมโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่นที่จะรับรู้รายได้เต็มปีในปี 2563 ทำให้กำลังผลิตเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 395.54 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตเชิงพาณิชย์ตามสัดส่วนการผลิตในปี 2563 เป็น 7,333.11 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตที่ลงทุนแล้วทั้งหมด 9,341 เมกะวัตต์
นายกิจจา กล่าวถึงการขยายการลงทุนใหม่อีกโครงการ ว่า มองไปที่กิจการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) โดยจะเข้าเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายแอลเอ็นจี (ชิปเปอร์) ซึ่งเรามีตลาดหลักอยู่แล้ว ในการป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าหินกอง 1 และ 2 ของบริษัท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพราะเชื่อว่าการนำเข้าเชื้อเพลิงเอง จะทำให้ต้นทุนต่ำลงกว่าที่เราซื้อผ่านปตท. และรองรับกับนโยบายเปิดเสรีก๊าซฯด้วย ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีหลายบริษัทกำลังจะขอเข้ามาเป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจีเอง เช่น กลุ่มบีกริม และ กัลฟ์ เป็นต้น
สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือน ของปี 2562 บริษัท มีรายได้รวมจำนวน 33,611 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจาก 2 ส่วนที่สำคัญ คือรายได้ค่าขายไฟจากโรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ และบริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น รวมจำนวน 27,384 ล้านบาท คิดเป็น 81.5% ของรายได้รวม
และรายได้จาก ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนจำนวน 3,517.29 ล้านบาท คิดเป็น 10.5% ของรายได้รวม ทั้งนี้ บริษัทฯ มีกำไรสำหรับงวด จำนวน 5,058.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% เทียบกับงวดเดียวกันของปีที่แล้ว