Economics

สงครามการค้าสะเทือน! ‘อีไอซี’ หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 2.8%

“อีไอซี” หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือขยายตัว 2.8% จากประมาณการเดิมที่ 3 % หลังสงครามทางการค้ายืดเยื้อ

ยรรยง ไทยเจริญ SCB1

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่  ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ  หรือ อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์  กล่าวว่า อีไอซีปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 2.8% จากประมาณการเดิมที่ 3 % สาเหตุหลักจากสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ รวมถึงผลกระทบสะสมของการตั้งกำแพงภาษีระหว่างจีนและสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา เริ่มส่งผลเป็นวงกว้างมากขึ้นในหลายประเทศ โดยผลกระทบในระยะหลังไม่ได้กระจุกตัวเพียงแค่การผลิตภาคอุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศ และการลงทุน แต่เริ่มกระจายตัวทำให้ภาคบริการชะลอลงอีกด้วย

นอกจากนั้น ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (technical recession) ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างมาก เช่น เยอรมนี ฮ่องกง และ สิงคโปร์ ซึ่งจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวและความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อประคับประคองการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ อีไอซีประเมินว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง และเมื่อรวมกับการแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ก็จะทำให้ภาคการส่งออกและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในรูปของเงินบาทได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกันได้ปรับลดส่งออกหดตัวที่ -2.5% ขณะที่ภาคท่องเที่ยว แม้จะคงคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่ 40.1 ล้านคน แต่มีการปรับลดประมาณการค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวตามการแข็งค่าของเงินบาท สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ประกาศในช่วงเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ช่วยพยุงการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนในช่วงที่เหลือของปี 2562 เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ความล่าช้าของการผ่าน พรบ. งบประมาณปี 2563 จะกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนภาครัฐในส่วนของโครงการใหม่

ทั้งนี้ อีไอซีคงมุมมองคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในไตรมาสที่ 4/62  สู่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ และจะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดปี 63  แต่ในระยะถัดไป ความเสี่ยงด้านต่ำจากทั้งในและนอกประเทศที่มีสูงขึ้น จะทำให้ กนง. มีโอกาสปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีหน้าที่คาดว่าจะโตถึง 3.3% ลงได้อีก

สำหรับทิศทางของค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคเนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เกินดุลสูง ค่าเงินบาทปีนี้แข็งค่า  7%  และ 5  ปีที่ผ่านมาแข็งค่า 24%  สาเหตุค่าเงินบาทแข็ง เนื่องจากดุลบัชีเดินสะพัดเกินดุล โดยปี 2558 – 2561 อยู่ที่ 9% ของจีดีพี  และช่วงนี้อยู่ที่ 6 % ของจีดีพี  สะท้อนการออมมากกว่าลงทุน เป็นปัญหาโครงสร้างของประเทศการแก้ปัญหาคือส่งเสริมให้เกิดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศและปีหน้ากรอบเคลื่อนไหวคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30-31 บาทต่อดอลลาร์

Avatar photo