Economics

เร่งวางโครงสร้างพื้นฐาน รับตลาดก๊าซฯในประเทศ-ภูมิภาคขยายตัว

ปตท.เดินหน้าขยายโครงสร้างพื้นฐานรองรับตลาดก๊าซฯในประเทศ และภูมิภาค ยันไทยมีศักยภาพรับแอลเอ็นจีนำเข้าได้กว่า 30 ล้านตัน เตรียมศึกษาโครงการก่อสร้างสถานีรับจ่าย เฟส 3 ต่อจากท่าเรือฯมาบตาพุด หลังโครงการถมทะเลแล้วเสร็จ และลงทุนอีก 2 โครงการท่อส่งก๊าซฯรองรับโรงไฟฟ้าพระนครใต้-น้ำพอง  

IMG 20191002 124554

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าก๊าซธรรมชาติจะเข้ามาเป็นพลังงานสำคัญในช่วงรอยต่อ (Transmision Fuel) ก่อนที่โลกจะเข้าสู่ยุคพลังงานทดแทนเต็มรูปแบบ  เพราะเป็นพลังงานสะอาด เฉพาะในไทยที่มีการใช้ก๊าซฯอยู่ในปีนี้ 4,668 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ช่วย PM 2.5 ได้ 150 ตันต่อปี เพราะใช้เป็นเชื้อเพลิงทั้งรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม

ปัจจุบันยังสามารถขนส่งได้ไกล และใช้ได้หลากหลายในรูปก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ดังนั้นผู้ผลิตจากหลายแหล่ง ต่างผลิตก๊าซฯออกมาตอบสนองความต้องการ ทำให้ราคาถูกลง ทั้งรัสเซีย ออสเตรเลีย รวมถึงจีน ก่อนที่โลกจะเคลื่อนไปสู่พลังงานทดแทน

สำหรับประเทศไทย ตามแผนก๊าซธรรมชาติ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี ) ฉบับปี 2018 คาดการณ์ความต้องการใช้จะเพิ่มจาก 4,696 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในปี 2561 ใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า 57%  และการใช้จะเพิ่มเป็น 5,509 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในปี 2579 ผลิตไฟฟ้า 53%

โดยปัจจุบันสัดส่วนการใช้ก๊าซฯในโรงไฟฟ้าสูงสุด 57% แต่ภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้แอลเอ็นจีในปริมาณมากขึ้น ซึ่งแอลเอ็นจีสามารถรองรับการใช้ทุกรูปแบบ และในพื้นที่ห่างไกลนอกแนวท่อส่งก๊าซฯ สำหรับความมั่นคงของแหล่งก๊าซฯนั้น สัดส่วนการจัดหาก๊าซฯในประเทศ มาจากอ่าวไทย สัดส่วน 68%  ซึ่งมีความมั่นคงมากขึ้น ภายหลังบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.ชนะประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ ก๊าซฯจากบนบก 2% เมียนมาร์ 17% และนำเข้าในรูปแอลเอ็นจี 13% ซึ่งแอลเอ็นจีนำเข้าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

แอลเอ็นจี 5

สำหรับความพร้อมรับแอลเอ็นจีนั้น ถือว่าไทยมีความพร้อมมากในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการนำเข้าแอลเอ็นจีในปริมาณที่เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งท่าเรือ และสถานีรับจ่ายแอลเอ็นจีอนาคตจะรองรับได้ถึง 27 ล้านตัน จากท่าเทียบเรือ และสถานีรับจ่ายแอลเอ็นจี ระยะที่ 1 ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง รองรับแอลเอ็นจีได้ 11.5 ล้านตัน เฟส 2 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างรองรับแอลเอ็นจีได้ 7.5 ล้านตัน

ส่วนเฟส 3 จะขยายสถานีรับจ่ายแอลเอ็นจี ในบริเวณใกล้เคียงโครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 รองรับแอลเอ็นจีได้เฉลี่ย 5-8 ล้านตัน โครงการนี้จะมาทำรายละเอียดภายหลังโครงการถมทะเลแล้วเสร็จ

” นอกจากศักยภาพรองรับความต้องการใช้แอลเอ็นจีในประเทศแล้ว ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่เรามีความพร้อม ประกอบกับไทยมีตลาดรองรับการใช้แอลเอ็นจี และที่ตัั้งของประเทศที่เป็นศูนย์กลาง ทำให้ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฮับแอลเอ็นจีของภูมิภาคได้แน่นอน ” 

อย่างไรก็ตามในส่วนของโรงไฟฟ้าซึ่งเป็นสัดส่วนการใช้ก๊าซฯหลัก ปตท.ยังเดินหน้าลงทุนท่อส่งก๊าซฯเพื่อไปให้ถึงโรงไฟฟ้าต่างๆ ให้มีเชื้อเพลิงใช้อย่างต่อเนื่อง โดยกำลังร่างแผน เพื่อลงทุน 2 โครงการหลัก ประกอบด้วย โครงการท่อส่งก๊าซฯจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ และ โครงการท่อส่งก๊าซฯจากขอนแก่น ไปยังโรงไฟฟ้าน้ำพอง โดยทั้งสองโครงการจะเป็นการลงทุนใหม่ อยู่ระหว่างการนำเสนอกระทรวงพลังงาน

Avatar photo