Economics

‘เอสซีจี’ ขยายธุรกิจ รับกำจัดกากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดีสุดในอาเซียน

‘เอสซีจี ซิเมนต์ฯ’ ขยายธุรกิจใหม่ รับกำจัดกากอุตสาหกรรม ทุ่มทุน 2,400 ล้านบาท สร้างโรงงานเทคโนโลยีดีที่สุดในอาเซียน พร้อมเปิดปี 63 ประเมินปีหน้า หากได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้ามาบตาพุด เตรียมขยายทำพื้นที่อื่นทั้งในและนอกประเทศ ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน-ลดปริมาณขยะในหลุมฝังกลบ

ตัด
ชนะ ภูมี

นายชนะ ภูมี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจซีเมนต์ และคอนสตรัคชั่น โซลูชั่น บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่าบริษัทลงทุน 2,400 ล้านบาทก่อสร้างโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้า ขนาด 65,000 ตันต่อปี กำลังผลิตไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ จะมีการทดสอบระบบในปลายปีนี้ และพร้อมดำเนินการในปี 2563 ดำเนินงานภายใต้บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งได้เริ่มโครงการบริหารจัดการของเสียอุตสาหกรรมมาก่อนแล้วเมื่อ 3 ปีก่อน เป็นผู้ประกอบการรายแรกที่กำจัดกากอุตสาหรรมด้วยเตาเผาปูนซีเมนต์

สำหรับโรงกำจัดขยะอุตสาหกรรมแห่งใหม่ เลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด คือ แก๊สซิฟิเคชั่น ร่วมกับแอช เมลติ้ง (Gasification with Ash Melting) จากบริษัทโคเบลโก้ จากญี่ปุ่นเป็นโรงแรกในประเทศไทยและอาเซียน ตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง กำจัดขยะทั้งกากอุตสาหกรรมทั้งที่ไม่อันตราย และอันตราย อาทิ เศษโพลิเมอร์ เศษผ้าเปื้อนน้ำมัน ฉนวนใยแก้ว ถ่านกัมมันต์ใช้แล้ว ตะกอนน้ำมัน เป็นต้น

รวมถึงรับบำบัดน้ำที่ปนเปื้อนโลหะหนัก ค่ากำจัดประมาณ 1,000-3,000 บาทต่อตันคาดว่าจะมีรายได้เข้ามาปีละ 500 ล้านบาทต่อปี เป็นรายได้จากค่ากำจัดกาก 200 ล้านบาทและรายได้ค่าไฟฟ้า 300 ล้านบาท ถือว่าปริ่มน้ำไม่มีกำไรมากนัก เพราะเราลงทุนสูง แต่สิ่งที่ต้องการสูงสุดคือการลดปริมาณขยะด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“เทคโนโลยีที่เราใช้ มีต้นทุนสูงกว่าเทคโนโลยีเตาเผาขยะทั่วไปกว่า 900 ล้านบาท แต่เราก็ต้องการนำมาใช้ เพื่อให้เป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการรายอื่น ขณะเดียวกันก็มีแผนจะนำไปขยายโครงการในพื้นที่อื่นๆทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งปีหน้าจะประเมินได้ว่าเทคโนโลยีจะไปได้ในเชิงธุรกิจ และขยายโครงการได้หรือไม่ ”  

นายชนะ ย้ำว่า ที่ผ่านมาเราได้ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในแถบมาบตาพุดที่มีหลายร้อยโรงงาน อาทิ โรงงานปิโตรเคมี แปรรูปพลาสติก โรงงานกระดาษ เป็นต้นได้รับทราบถึงเทคโนโลยีนี้ และพบว่าได้รับการตอบรับที่ดี เพราะแม้ต้นทุนกำจัดกากอุตสาหกรรมอาจสูงขึ้นบ้าง แต่หากเฉลี่ยกับการลดค่าขนส่งที่ไม่ต้องไปไกล และมั่นใจได้ถึงกระบวนการกำจัดของบริษัท ค่ากำจัดกากของบริษัทใกล้เคียงกับโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยปัจจุบันราคาเฉลี่ยค่ากำจัดกากอุตสาหกรรมทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อตัน

ทั้งนี้การกำจัดกากอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย จะช่วยลดปริมาณขยะอุตสาหกรรมไปยังบ่อฝังกลบได้อย่างดี สอดคล้องกับแนวทาง Zero Waste to Landfill และ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หากมีผู้ใช้บริการมาก บริษัทก็พร้อมขยายกำลังการกำจัด รองรับการขยายโรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า ในปี 2560 จังหวัดชลบุรี มีกากอุตสาหกรรมอันตราย 41,000 ตัน และไม่เป็นอันตราย 980,000 ตัน จังหวัดฉะเชิงเทรา มีขยะกากอุตสาหกรรมอันตราย 9,000 ตัน ไม่อันตราย 365,000 ตัน จังหวัดระยอง มีกากอุตสาหกรรมอันตราย 230,000 ตัน ไม่อันตราย 2 ล้านตัน

โรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้าของเอสซีจี ซิเมนต์ 3

นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ รองผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัทเอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด  กล่าวว่าระบบกำจัดกากอุตสาหกรรมของบริษัทจะเป็นระบบปิด มีการควบคุมมลพิษ และของเสียตามมาตรฐาน ตั้งแต่รับกากอุตสาหกรรมจากผู้ประกอบการ การขนส่งไปยังจุดคัดแยกประเภท เพื่อตรวจวิเคราะห์ค่ามาตรฐานกาก และเตรียมกากก่อนกำจัด จากนั้นเข้าสู่กระบวนการกำจัดด้วยเทคโนโลยีเฉพาะในเตาแก๊สซิไฟเออร์ และเตาแอชเมลติ้ง ตามลำดับ

โดยระหว่างกระบวนการเผาจะได้เศษวัสดุจากการเผาไหม้ เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก และเถ้าลอย ซึ่งนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ส่วนวัสดุเผาไหม้ไม่ได้ (Incombustible) สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแทนการก่อสร้างถนนได้ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้า และปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพื่อนำกลับไปใช้หมุนเวียนในระบบ

โรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้าของเอสซีจี ซิเมนต์ 1

Avatar photo