Economics

‘สผ.’ มั่นใจพรบ.อีไอเอใหม่ หนุนลงทุน-พัฒนายั่งยืน

เลขาธิการสผ. มั่นใจ พ.ร.บ.อีไอเอฉบับปรับปรุงใหม่ ส่งเสริมการลงทุน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

S 76333074

ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำควบคู่กันไปได้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับทั้ง 2 เรื่องนี้  คือการพัฒนา และสนับสนุนการลงทุนบนพื้นฐานการให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม

รัฐบาลไม่เคยใช้กฎหมายพิเศษใดๆ ในการยกเว้นการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)  ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน  ซึ่ง สผ. ก็ได้วางแนวทาง และกฎระเบียบไว้อย่างรัดกุม และไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการพัฒนาประเทศ ที่สำคัญอีไอเอ ถือเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนได้เป็นอย่างดีในทุกมิติ ทำให้เกิดการยอมรับของชุมชนและประชาชน

ดร.รวีวรรณ ยังยกโครงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกขึ้นมาเป็นตัวอย่างสำหรับเรื่องนี้ โดยระบุว่า ในการเดินหน้าโครงการนั้น สผ. ได้ประสานความร่วมมือ ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  พ.ศ. 2561 โดยมีโครงการที่ได้ผ่านความเห็นชอบ ได้แก่ พื้นที่มาบตาพุต เฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบัง รถไฟเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ซึ่งถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ ภายใต้โครงการอีอีซี  สำหรับสนามบินอู่ตะเภาอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานอีไอเอเสนอ สผ.พิจารณา

เลขาธิการสผ. ย้ำด้วยว่า  พ.ร.บ.ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เป็นพ.ร.บ.ฉบับแก้ไขใหม่ เพื่อให้ทันสมัยมากขึ้น เพราะ พ.ร.บ. ฉบับเดิมใช้มานานแล้วตั้งแต่ปี 2535

ASEAN Briefing Thailands Eastern Economic Corridor EEC

สาระสำคัญที่ได้รับการแก้ไข และบรรจุไว้ในพ.ร.บ.ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561

  • พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ให้ความสำคัญ กับเรื่องการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในระดับแผนหรือแผนงาน สำหรับการนำไปใช้เป็นกรอบในการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
  • เรื่องบทลงโทษ จากเดิมไม่มีบทลงโทษ แต่ได้มีการปรับปรุงบทลงโทษสำหรับโครงการที่ได้มีการก่อสร้างไปก่อนที่อีไอเอ จะได้รับความเห็นชอบ และโครงการที่ไม่ส่งรายงานการติดตาม กำหนดโทษสูงสุดปรับ 1 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรรมการเปรียบเทียบปรับ
  • กำหนดระยะเวลาการพิจารณาอีไอเอให้ชัดเจนขึ้น หากรายงานอีไอเอยังไม่ได้รับความเห็นชอบ บริษัทที่ปรึกษา หรือผู้ประกอบการ จะต้องแก้ไขรายงานให้แล้วเสร็จ ภายใน 180 วัน หากเลยระยะเวลาดังกล่าวถือว่าจบกระบวนการ
  • ปรับปรุงและกำหนดความชัดเจน ระหว่าง ใบอนุญาตตัวบุคคล และใบอนุญาตของบริษัทที่ปรึกษา และในกรณีบริษัทที่ปรึกษากระทำความผิด โดยจัดทำรายงานอีไอเออันเป็นเท็จในโครงการใดโครงการหนึ่งนั้น บริษัทที่ปรึกษาจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทันที
  • มอบอำนาจในการพิจารณารายงานอีไอเอแบบเบ็ดเสร็จ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) อาจมอบอำนาจให้หน่วยงานของรัฐแห่งอื่นๆ ที่เห็นว่ามีศักยภาพในด้านต่างๆ เช่น องค์ความรู้ งบประมาณ ให้มาทำหน้าที่ในการพิจารณารายงานอีไอเอแทน สผ.ได้
  • เมื่ออีไอเอผ่านความเห็นชอบแล้ว สามารถนำไปประกอบการขออนุมัติ ขออนุญาต ได้ภายในระยะเวลา 5 ปี หากเลยระยะเวลาที่กำหนดจะต้องจัดทำรายงานใหม่ทั้งฉบับ หรือทบทวนมาตรการแล้วแต่กรณี

Avatar photo