Economics

3 ข้อสงสัย 11 ข้อเสนอ ถึง ‘สนธิรัตน์’

” ปิยสวัสดิ์ ” ชี้ 3 ประเด็นพลังงานน่าเป็นห่วง พร้อมเสนอ 11 ข้อหาทางแก้ ย้ำประเด็นข้อสงสัยอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์โดยไม่มีการประมูล จี้ต้องมีธรรมาภิบาล ส่งเสริมการแข่งขัน ภายใต้มาตรฐานกำกับดูแล พร้อมระบุให้ใช้กองทุนน้ำมันฯเฉพาะช่วงวิกฤติ เตรียมเสนอข้อมูลต่อ “สนธิรัตน์” ในนามกลุ่มปฏิรูปพลังงาน

กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือ ERS ได้จัดงานครบรอบ 5 ปี ภายใต้หัวข้อ 5 ปี ERS: “ทิศทางประเทศไทย ทิศทางพลังงานไทย” ที่หอประชุมสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีแกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน นำโดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ นายมนูญ ศิริวรรณ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ และ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร มาร่วมพูดคุยและเสวนาบนเวทีเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปพลังงานสู่ความยั่งยืน ก่อนยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่S 25157694

ดร.ปิยสวัสดิ์ แกนนำกลุ่ม ERS กล่าวใน 3 ประเด็นน่าเป็นห่วง ดังนี้

1.การอนุมัติต่ออายุ และสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ภาคตะวันตก 2 โรง กำลังผลิตรวม 1400 เมกะวัตต์ แทนโรงเดียว 700 เมกะวัตต์ ที่หมดอายุลง โดยไม่มีการประมูล

2.การเปิดประมูลสร้างท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ที่มีการเพิ่มคลังรับก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) โดยไม่เชื่อมโยงกับแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ที่ต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี) ฉบับ 2018

3.ยังมีการอุดหนุนราคาพลังงานบางประเภทแบบ Cross Subsidies ในระดับสูง หรือ อุดหนุนข้ามกลุ่มผู้ใช้ ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคบางส่วน และไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่ต้นทุนการผลิตยังสูง

โดยดร.ปิยสวัสดิ์ เสนอ 11 ข้อ ให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณา ประกอบด้วย 

1. หากรัฐบาลจะใช้ดุลพินิจให้สิทธิประโยชน์แก่เอกชนรายใด เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยไม่มีการประมูลแข่งขัน ก็ควรต้องมีคำอธิบาย ว่าการเลือกปฏิบัตินั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ และผู้บริโภคอย่างไร ทำนองเดียวกันการประกาศเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) ก็ควรมีความเป็นกลาง ไม่เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วยเช่นกัน

2.ให้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร อาทิ แก้ไข พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแล และบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 เพื่อแยกการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล และการดูแลผลประโยชน์ของรัฐ ในฐานะของผู้ถือหุ้นออกจากกันอย่างแท้จริงเหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว

“ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเปิดให้บุคคลที่สามใช้ระบบท่อก๊าซ ปตท.แล้ว และก๊าซฯส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า จึงควรเพิ่มการแข่งขันในกิจการผลิตไฟฟ้าด้วย เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง และส่งผ่านราคาค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมให้ผู้บริโภค สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ระบบผลิตไฟฟ้า จะเปลี่ยนสู่ระบบกระจายศูนย์อย่างรวดเร็วในอนาคต และส่งเสริมการผลิตเองใช้เองของผู้บริโภค (Prosumer) “

3.เสนอให้ปรับโครงสร้าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยยังคงให้ควบคุมระบบสายส่ง ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และให้จัดกลุ่มโรงไฟฟ้าอื่นๆ ของ กฟผ. เป็นหน่วยงานอิสระ เพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันกับเอกชนที่เปิดกว้างและโปร่งใส ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจต่อไปในอนาคต

4. ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่างๆ เชื่อมโยงระบบ และการสั่งเดินเครื่องมีความเที่ยงธรรมอย่างแท้จริง และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

5.ให้เตรียมการเปิดบุคคลที่สามใช้ระบบสายส่งไฟฟ้า และปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าให้มีการแข่งขัน โดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกในการซื้อไฟฟ้า (Retail Competition)

โดยให้มีโครงการนำร่อง (sandbox) นำเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Technology) เช่น Block Chain  เพื่อเอื้อให้เกิดนวัตกรรมในการผลิต และการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยเริ่มจากผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตนิคมอุตสาหกรรม หรือหมู่บ้านจัดสรรที่มีความพร้อม และในระยะต่อไปจึงเปิดให้มีการแข่งขันเต็มรูปแบบ

6. ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ เฉพาะเมื่อมีวิกฤติราคาน้ำมันในตลาดโลกและใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ

7.ควรให้น้ำมันแก๊สโซฮอล อี 20 กับ น้ำมันไบโอดีเซล บี10 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหลักของประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ และลดการนำเข้า โดยทยอยลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ ภายในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนด

8.เลิกการอุดหนุนแบบถาวรในน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพชนิด อี 85 และ บี 20 เนื่องจากไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคกลุ่มอื่นที่ต้องรับภาระจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ และไม่ส่งเสริมให้ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของตนเองให้แข่งขันได้

9. การกำหนดนโยบายรัฐในด้านต่างๆควรคำนึงมิติด้านพลังงานเสมอ และควรให้มีผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่หลากหลายมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายพลังงานมากยิ่งขึ้น

10. ผลักดันการเข้าร่วมในกลุ่มภาคี เพื่อสร้างความโปร่งใสในกิจการสำรวจ และผลิตทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งปิโตรเลียม และสินแร่

11. นโยบายการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง ควรคำนึงถึงข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกติกาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( UNFCCC )S 25157695“ภาคพลังงานไทย ยังมีปัญหาหลายประการ ที่ควรได้รับการแก้ไข เพราะหากทิ้งไว้จะทำให้อ่อนแอลง และมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และฐานะการเงินระหว่างประเทศของไทย อาทิ ธรรมาภิบาลด้านบริหารจัดการนโยบายพลังงาน ที่ยังมีจุดที่ก่อให้เกิดข้อสงสัย เนื่องจากเอกชนบางรายได้ประโยชน์จากนโยบาย และการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นการแก้ข้อสงสัย เรื่องการเอื้อประโยชน์เอกชน ซึ่งบั่นทอนธรรมาภิบาลภาครัฐให้เป็นวาระเร่งด่วน  “

 

Avatar photo