Economics

‘ชาญศิลป์’ เร่งจัดทัพ ‘ปตท.’ บุกลงทุนพื้นที่เป้าหมาย

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเหลือระยะเวลาดำรงตำแหน่งอีกไม่ถึง 1 ปี โดยเขาจะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2563 ในเชิงบริหารแล้วถือว่าไม่นาน ตอนนี้เป็นช่วงเร่งวางโครงสร้างการทำงานอย่างเต็มที่

สิ่งที่เขากำลังทำ คือ การจัดทัพผู้บริหารปตท.ใหม่ ในส่วนของระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท.และบริษัทลูก ที่ทำไปเรียบร้อยแล้ว รวมถึงการจัด 68 ระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ในบริษัทปตท.ให้ลงตัวทดแทนผู้ที่จะเกษียณอายุในเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งเขากำลังปลูกฝังให้ระดับผู้ช่วยฯ ซึ่งต้องก้าวไปสู่การเป็นซีอีโอในวันข้างหน้า ทั้งบริษัทปตท.และในเครือ เห็นความสำคัญของการทำงานเป็นทีมมากกว่า “One-man show”

นอกจากนี้ชาญศิลป์ กำลังทำภาพ ของการทำงานเป็นกลุ่มของปตท.ให้ชัดเจน เกื้อหนุนกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะการบุกลงทุนในต่างประเทศ ให้บริษัทที่เข้าไปลงทุนก่อนแล้ว และชำนาญเส้นทาง คอยหาลู่ทางให้กับบริษัทอื่นๆของปตท.ในแต่ละประเทศ

2019 06 25 ๑๙๐๖๒๗ 0063

เขา เล่าว่า 16 ประเทศที่บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.เข้าไป เช่น  โอมาน โมซัมบิก หรือในเมียนมาร์ ปตท.สผ.จะเป็นแอมบาสเดอร์ในพื้นที่นั้น เขายกตัวอย่างเมียนมาร์ที่ปตท.สผ.เข้าไปดำเนินงานในแปลงสัมปทานเอ็ม 11 ที่อ่าวเมาะตะมะ ตั้งแต่ปี 2548 ก็จะเป็นกองหน้านำไป และทัพหลวงกำลังตาม

เพราะก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งนี้ก็จะต้องไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าที่นั่น เพราะไฟฟ้าในเมียนมาร์ไม่เพียงพอกับความต้องการขณะที่ประเทศเขากำลังพัฒนา  โดยมีบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี ในเครือปตท.ตามเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าที่นั่น

ขณะที่โซนสปป.ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ จีนตอนใต้ บริษัทปตท.น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด หรือพีทีทีโออาร์ จะเป็นผู้นำของกลุ่ม ในการบุกตลาด นำโดยสถานีบริการน้ำมันปตท. ที่ได้รับการตอบรับสูงในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ซึ่งกำลังมีนักลงทุนประเทศต่างๆสนใจซื้อแฟรนไชส์ ปัจจุบันมีที่สิงคโปร์ 1 แห่ง มาเลเซีย 1 แห่ง โอมานแห่งที่ 6 กำลังเกิดขึ้น รวมถึงในญี่ปุ่นกำลังขยาย และในจีน

ส่วนในสหรัฐ กองหน้าก็คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ จีซี ที่อยู่ระหว่างการเข้าไปลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐ สำหรับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นกองหน้าลงทุนในเวียดนาม

ชาญศิลป์3

นอกจากการต้องไปด้วยกันแบบกองทัพแล้ว ในแต่ละผลิตภัณฑ์ ที่ออกมาภายใต้แบรนด์ปตท.ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ให้สอดคล้องกับกระแสโลก ในธุรกิจการกลั่น ผลิตภัณฑ์น้ำมันต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างมูลค่าให้กับทรัพยากร

“น้ำมันเตา” จากโรงกลั่นที่แถบจะไม่มีอุตสาหกรรมไหนใช้แล้ว แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องออกมาจากโรงกลั่น ชาญศิลป์ บอกว่า บริษัทไทยออยล์ ได้ลงทุนไปกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) เพื่อเพิ่มศักยภาพ และปรับปรุงกระบวนการผลิต ให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการนำน้ำมันเตาไปทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ เช่น ดีเซล น้ำมันเครื่องบิน ปิโตรเคมี แนฟทา โครงการนี้จะแล้วเสร็จในปี 2565-2566 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำมันเตาได้หลายเท่าตัว

รวมไปถึงการกลั่นน้ำมันเตาซัลเฟอร์ต่ำออกจำหน่ายให้กับเรือเดินสมุทร ทั้งโรงกลั่นของบริษัทไทยออยล์ และบริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) รองรับการประกาศห้ามใช้น้ำมันเตาซัลเฟอร์สูงในเรือเดินสมุทรขององค์กรการเดินเรือระหว่างประเทศ(International Maritime Organization : IMO) ทำให้เรือเดินสมุทร ต้องใช้น้ำมันเตาที่มีค่ากำมะถันต่ำไม่เกินกว่า 0.5% ภายในปี 2563 ซึ่งจะนำจุดแข็งของเราไปเปิดตลาดขายน้ำมันเตาซัลเฟอร์ต่ำได้

และยังมีอีกหลายโครงการที่จะต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น บริษัทไออาร์พีซี ขยายไปผลิตเม็ดพลาสติกกลุ่มโพลีโพรพิลีน (PP) และพาราไซลีน (PX )

นอกจากการมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆแล้ว เราก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัยด้วย เช่น จีซี กำลังมองไปถึงสถานการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติในพื้นที่อ่าวไทยที่เริ่มลดลง และอาจจะหมดไปในอนาคต ทำให้ต้องปรับกระบวนการผลิตให้สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนก๊าซฯได้ เช่น น้ำมันดิบ รวมไปถึงแนฟทา เป็นต้น

ชาญศิลป์5

สำหรับโครงการลงทุนในปี 2562 ที่ของเพิ่มงบลงทุน 33,196 ล้านเป็น 103,697 ล้านบาท ชาญศิลป์ เล่าว่า ส่วนใหญ่เป็นการปรับเพิ่มในธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรมนั้น ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการลงทุนในโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ที่คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในเดือนกรกฎาคมนี้

ขณะเดียวกันแผนที่วางไว้ต้องทบทวนเป็นระยะๆ สำหรับแผนการลงทุนระยะ 5 ปี จะมีการทบทวนในช่วงไตรมาส 3 ในคณะกรรมการ บริษัทปตท. โดยจะมี 2 เรื่องที่เป็นกลยุทธ์สำคัญ ซึ่งชาญศิลป์ ขอให้คณะกรรมการฯได้พิจารณาอนุมัติก่อนจึงจะเปิดเผยรายละเอียดได้

ในระยะเวลาที่เหลือมีหลายโครงการที่ไม่สามารถแล้วเสร็จในยุคเขา แต่มี 2 เรื่องที่ชาญศิลป์ จะผลักดันให้เสร็จ เขา บอกว่า เป็นเรื่องการผลักดันบริษัท พีทีทีโออาร์ ให้สามารถยื่นแบบเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ได้ ภายหลังจากเสนอคณะกรรมการบริษัทปตท.ในไตรมาส 3 ของปีนี้

รวมไปถึงการเปิดตัวเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) อย่างเป็นทางการ และจัดโรดโชว์ดึงนักลงทุนในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เขา ยอมรับว่า เปิดตัวล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมที่จะดำเนินการต้นปีนี้ เพราะต้องรอให้มีรัฐบาลให้เรียบร้อยก่อน โดยเริ่มต้นจะดึงพันธมิตรที่เป็นคู่ค้าของเรามาร่วมรับฟัง ประมาณ 300-500 ราย จากนั้นจึงจะออกไปโรดโชว์ต่างประเทศ ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น จีน เกาหลี เป็นต้น เพื่อดึงดูดให้มาลงทุนในอีอีซีไอ

สิ่งที่ชาญศิลป์ วางไว้จะเป็นไปตามแผน และสำเร็จดังประสงค์หรือไม่ ขึ้นกับหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งปัจจัยภายในปตท. การเมืองภาคพลังงาน และปัจจัยภายนอกประเทศ ในฐานะที่ปตท.ต้องโลดแล่นในยุทธจักรที่มีคู่แข่งขันทั่วโลก ซึ่งแต่งแข็งปึก แต่เหนืออื่นใด ทีมปตท. เป็นหัวใจสำคัญยิ่งที่จะทำให้ก้าวเดินหน้า หรือก้าวถอยหลังก็ได้เช่นกัน

Avatar photo