Economics

‘ทอท.’ ฉลองอายุครบ 40 ปี ยืนยันบริการใน ‘สนามบิน’ จะดีขึ้น

 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.  ผู้บริหารสนามบินเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ของประเทศไทยจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ  สนามบินดอนเมือง สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ สนามบินหาดใหญ่ และสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย กำลังจะมีอายุครบ 4 ทศวรรษในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562

ในวัย 40 ปี ทอท. เป็นองค์กรที่มีความมั่นคง เข้าขั้นอู้ฟู่ วัดจาก “กำไร” ที่ทำลายสถิติสูงสุด (New High) มา 4 ปี ติดต่อกัน (และมีแนวโน้มจะ New High เป็นปีที่ 5!) รวมถึงราคาหุ้นกำลังร้อนแรงในตลาด แต่ในมุมมองของผู้โดยสาร กลับมีการตั้งคำถามบนโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ทำไมคุณภาพบริการภายในสนามบินของ ทอท. กลับสวนทางกับกำไรที่เพิ่มมากขึ้น 

สนามบิน ดอนเมือง

“นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. อธิบายว่า สาเหตุที่คุณภาพบริการภายในสนามบิน ทอท. ลดลง เพราะขณะนี้ปริมาณผู้โดยสาร มีมากกว่าความสามารถในการรองรับของสนามบินซึ่งอยู่ที่ 100 ล้านคนต่อปี ดังนั้น ทอท. จึงอยู่ระหว่างเร่งขยายสนามบินให้เพียงพอและหามาตรการอื่นๆ ช่วยเพิ่มคุณภาพบริการ

เร่งมือขยายสนามบิน

ระยะยาว “ไม่ต้องเป็นห่วง” เพราะ ทอท. มีแผนจะขยายอาคารผู้โดยสารในแต่ละสนามบินให้เพียงพอ เริ่มจาก “สนามบินสุวรรณภูมิ” อยู่ระหว่างการก่อสร้าง “อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite)” ซึ่งจะก่อสร้างเสร็จในเดือนเมษายน 2563 และเปิดให้บริการในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 รองรับผู้โดยสารได้อย่างต่ำ 10-15 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ ทอท. อยู่ระหว่างเสนอ “โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (Terminal 2)” วงเงิน 4.2 – 4.3 หมื่นล้านบาท ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ถ้าหากได้รับความเห็นชอบ ก็คาดว่าจะเปิดให้บริการได้เร็วที่สุดในปี 2565 ช่วยรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 40 ล้านคนต่อปี

สุวรรณภูมิ

สำหรับ “สนามบินดอนเมือง” จะมีการปรับปรุง “อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1” เพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ การขยายและปรับปรุงหลุมจอดอากาศยาน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ส่วนที่ “สนามบินภูเก็ต” อยู่ระหว่างก่อสร้าง “ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ” ให้สามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 10.5 ล้านคน และก่อสร้าง “ลานจอดอากาศยาน” รองรับเครื่องบิน Code E จำนวน 3 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

ทั้งนี้ การลงทุนขยายสนามบินจะใช้เงินสะสมจาก “ค่าบริการผู้โดยสารขาออก หรือ ภาษีสนามบิน (PSC)” ซึ่ง ทอท. เรียกเก็บจากผู้โดยสารเที่ยวบินภายในประเทศ 100 บาทต่อเที่ยวและเที่ยวบินระหว่างประเทศ 700 บาทต่อเที่ยว ส่งผลให้ ทอท. ไม่ต้องปรับขึ้นค่า PSC แม้จะมีการลงทุนใหม่ๆ

“แม้ขณะนี้บริการในสนามบินจะแย่ แต่สิ่งที่ผู้โดยสารต้องอดทนจะไม่เสียเปล่า เพราะ ทอท. จะนำเงิน PSC ที่สะสมไว้ไปลงทุนขยายสนามบินตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 เท่านั้น ต่อไปเมื่ออาคารผู้โดยสารหรือพื้นที่ใหม่ๆ เปิดใช้ เช่น เทอร์มินอล 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิ ก็จะไม่มีการเก็บค่า PSC เพิ่มขึ้นจากอัตราปัจจุบัน” นายนิตินัยกล่าว

สุวรรณภูมิ 2

หนุน “แพลตฟอร์มดิจิทัล”เพิ่มความสะดวก

แต่การขยายอาคารผู้โดยสารแห่งเดิม หรือการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ในสนามบิน ต้องผ่านหลายขั้นตอนและใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน  ในระยะสั้น ตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงปี 2563 ทอท. จึงเดินหน้าก่อสร้าง”อาคารเอนกประสงค์” ใน “สนามบินดอนเมืองและสนามบินเชียงใหม่” เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ระบายผู้โดยสารและเพิ่มคุณภาพบริการให้ดีขึ้น

นอกจาก ขยายพื้นที่ทางกายภาพแล้ว ทอท. ยังได้เชื่อมโยงข้อมูลภายในสนามบินที่มีกว่า 40 ระบบ แล้วพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลในรูปแบบแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้โดยสารเข้าถึงข้อมูลภายในสนามบิน และตัดสินใจเกี่ยวกับการเดินทางได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

การบิน ๑๙๐๔๑๗ 0071

เบื้องต้น ทอท. จะเปิดให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ในเดือนสิงหาคม 2562 และในเฟสแรกจะมีข้อมูลให้บริการทั้งหมด 7 ด้าน ได้แก่

  1. ข้อมูลเที่ยวบินแบบเรียลไทม์ แนะนำเคาน์เตอร์เช็คอิน และสัมภาระ พร้อมแจ้งเตือนเที่ยวบินที่กำหนดไว้เพื่อให้ผู้โดยสารได้มีเวลาเตรียมตัวก่อนไปสนามบิน
  2. บริการแผนที่อัจฉริยะ (Intelligence Map) ในอาคารผู้โดยสารพร้อมนำทางไปยังจุดต่างๆ
  3. แจ้งเตือนสภาพการจราจร แนะนำเส้นทางเลี่ยงไปยังสนามบิน ช่วยวางแผนการเดินทางได้อย่างแม่นยำ และบริการจองที่จอดรถพร้อมพื้นที่จอดรถพิเศษ (Premium Zone)
  4. เครื่องมือช่วยแปลภาษา
  5. แหล่งรวบรวมข้อมูลสินค้า ร้านอาหาร ร้านค้าปลอดอากร พร้อมโปรโมชั่นและสิทธิพิเศษ
  6. บริการจองต่างๆ เช่น ห้องรับรองภายในท่าอากาศยาน จองและเรียกรถรับจ้างสาธารณะทุกประเภท
  7. โปรแกรมสะสมคะแนน จากทุกการใช้จ่ายภายในท่าอากาศยานเพื่อใช้แลกสินค้าหรือบริการภายในท่าอากาศยาน

วีซ่า ตม. 5

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ภายในสนามบินยังสามารถใช้ข้อมูลดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหลังบ้านและอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้น

ในช่วงต้นปี 2563 ทอท. จะเริ่มเชื่อมโยงข้อมูลและปรับปรุงระบบหลังบ้านภายในองค์กรก่อน หลังจากนั้นจะทยอยเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานที่อื่นๆ เช่น บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.), สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และสายการบิน เพื่อให้การทำงานภายในสนามบินสอดคล้องกันและช่วยลดความแออัดของผู้โดยสาร ในระหว่างที่การขยายสนามบินยังไม่แล้วเสร็จ

ผู้โดยสารต่ำเป้า แต่ยังมีสิทธิ์ทำ New High

ในด้านผลประกอบการ “นิตินัย” กล่าวว่าในปีงบประมาณ 2562 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 – พฤษภาคม 2562  ปริมาณผู้โดยสารในสนามบิน ทอท. เติบโตค่อนข้างน้อย เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารจากประเทศจีนและยุโรปลดลง

  • ปริมาณเที่ยวบินอยู่ที่ 606,891 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 3.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 97.23 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ประเมินว่าปริมาณผู้โดยสารทั้งปีงบประมาณ 2562 จะอยู่ที่ 2% ต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งอยู่ 7-8%

ประเด็นนี้ไม่ได้ส่งผลให้รายได้ของ ทอท. ลดลง เนื่องจากสายการบินหลายแห่งที่มีเที่ยวบินภายในประเทศ ได้ขอเปลี่ยนเป็นตารางบินระหว่างประเทศ ซึ่งมีการเรียกเก็บค่า PSC สูงกว่า ดังนั้นจึงคาดว่า ถ้าไม่มีปัจจัยภายนอกมากระทบเพิ่มเติม “ทอท. จะมีกำไรมากกว่าหรือใกล้เคียงกับปี 2561”

นิตินัย
นิตินัย ศิริสมรรถการ

ปรับโมเดลธุรกิจครั้งใหญ่

 นิตินัย กล่าวเนื่องในโอกาสที่ ทอท. มีอายุครบ 40 ปีว่า ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ทอท. จะปรับโครงสร้างทางธุรกิจครั้งใหญ่ จากปัจจุบัน ทอท. พึ่งพารายได้จากผู้โดยสารเป็นหลักและมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจการบิน (Aero) อยู่ที่ 53% แต่ในอนาคต ทอท. จะมีรายได้จากการขนส่งสินค้า พื้นที่เชิงพาณิชย์ และอีคอมเมิร์ซบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้รายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน (Non-aero) เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 50% ในปี 2564

นายใหญ่ ทอท. ให้รายละเอียดว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังรุกธุรกิจขนส่งสินค้า (Cargo) ด้วยการจัดตั้ง  โครงการศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก (Certify Hub)  ภายในสนามบินสุวรรณภูมิและจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2563 คาดว่าจะมีปริมาณสินค้ามาใช้บริการอย่างต่ำ 1 แสนตันต่อปี โดยล่าสุด ทอท. อยู่ระหว่างจัดตั้งบริษัทลูกแห่งใหม่เพื่อมาดูแลเรื่องนี้ คาดว่าการจัดตั้งจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน

ดิวตี้ฟรี

นอกจากนี้ ทอท. ได้เจรจากับกรมธนารักษ์ ขอขยายระยะเวลาการเช่าพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิที่จะหมดสัญญาในปี 2575 ออกไปอีก 30 ปี เพื่อให้การลงทุน “โครงการพัฒนาที่ดินโดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport City) มีจุดคุ้มทุนเพียงพอในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าเรื่องนี้จะได้ข้อสรุปราวเดือนสิงหาคม-กันยายน 2562 น

ขณะเดียวกัน ทอท. จะเริ่มออกโรดโชว์ เชิญชวนสนามบินต่างประเทศมาเป็นพันธมิตรด้านอี-คอมเมิร์ซบนแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยผู้โดยสารของ ทอท. จะสามารถเลือกซื้อสินค้าและบริการในสนามบินพันธมิตรผ่านทางแพลตฟอร์มดิจิทัล และ ทอท. จะมีรายได้เป็นส่วนต่างจากการจำหน่ายสินค้า

“ปีนี้เป็นปีที่ 40 เราคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ ทอท. ในหลายๆ มุม ทั้งเรื่องการบริการ การขนส่ง ที่สำคัญเรื่องของรายได้ เรื่องการประมูลดิวตี้ฟรี ซึ่งเรื่องการรายได้และบริการน่าจะก้าวกระโดดทั้งอย่างมีนัยยะตั้งแต่ปีที่ 40 และ 41 ของ ทอท. เป็นต้นไป” นายนิตินัยกล่าว

ดิวตี้ฟรี 66

ต้นเดือนหน้าลงนามสัญญา “คิงเพาเวอร์”

สำหรับการประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงการประมูลดิวตี้ฟรีในสนามบินภูมิภาค ซึ่งกลุ่มคิงเพาเวอร์เป็นผู้ชนะการประมูลทั้ง 3 สัญญานั้น ล่าสุด ทอท. เตรียมเชิญคิงเพาเวอร์มาตรวจร่างสัญญาและตั้งเป้าหมายว่าจะลงนามสัญญาได้ในระหว่างวันที่ 1-10 กรกฎาคม 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับการก่อสร้างงานระบบในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยการนำส่งรายจากทั้ง 3 สัญญาของคิงเพาวเวอร์ให้กับ ทอท. จะมีมูลค่าจาก 8,800 ล้านบาทต่อปี เป็น 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่งผลให้รายได้ของ ทอท. จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปีงบประมาณ 2564

ด้านการประมูลพื้นที่ส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี (Pick up Counter) ในสนามบินสุวรรณภูมิ อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบในการเปิดกว้าง และตั้งเป้าหมายว่าจะสรุปเงื่อนไขการประมูล (TOR) ให้ได้ในปีนี้

Avatar photo