ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการ ปตท.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท.เป็นผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนที่ 9 แทนนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ที่จะหมดวาระวันที่ 30 สิงหาคม 2561
โดยนายชาญศิลป์ ระบุว่า การที่ตนได้รับการคัดเลือกครั้งนี้ไม่ได้มีเส้นสายแต่อย่างใด แม้ว่าจะทำงานเพียง 1 ปี 8 เดือน แต่ด้วยความเป็นลูกหม้อมายาวนานถึง 35 ปี ทำงานเป็นกรรมการบริษัทมาถึง 16 แห่ง และเป็นประธานบริษัท 5 แห่ง ประกอบกับ ปตท.มีการวางการทำงานที่ต่อเนื่อง ดังนั้น จึงจะทำหน้าที่ประสานงานให้เดินหน้าเกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน ผู้ถือหุ้นรวมทั้งต้องเตรียมคน ให้ทำงานต่อเนื่อง เพราะต้องยอมรับว่า ปตท.เป็นเช่นเดียวกับหลายองค์กรที่เมื่อผู้บริหารยุค BABY BOOM เกษียณแล้ว จะเกิดการขาดช่วง ก็ต้องการเตรียมคน ให้เกิดการทำงานต่อเนื่อง เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ตนไม่ได้ถูก ปตท.ฟ้องร้องแต่อย่างใด เพราะหากถูกฟ้องร้องก็คงไม่ผ่านคุณสมบัติจากการคัดเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยข้อเท็จจริงที่ตนเกี่ยวข้องกับบริษัท ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งลงทุนปาล์มในอินโดนีเซียนั้น ตนเข้าไปเป็นกรรมการผู้จัดการในช่วงเดือนสิงหาคม 2551-พฤษภาคม 2552 หลังจากเกิดปัญหาและเมื่อ ปตท.ตรวจพบหลักฐานความผิดปกติในการลงทุนธุรกิจปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียของพีทีทีจีอี ต่อมาจึงได้มีการสอบสวนลงโทษทางวินัยผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาสอบสวน และยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ซึ่งไม่ได้ฟ้องตน เป็นการฟ้องบุคคลอื่น โดยที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้เชิญตนเองไปให้ข้อมูลในฐานะที่เคยบริหารงานเท่านั้น
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ภายในองค์กรไม่มีการขัดแย้ง แม้ตนได้รับการคัดเลือกให้เป็นซีอีโอคนใหม่ แต่ไม่ได้คิดจะไปล้างบางใครทั้งสิ้น ผู้สมัครดำรงตำแหน่งทุกคนก็ล้วนเป็นพี่เป็นน้องกัน เรียนในชั้นเรียนผู้บริหารร่วมกัน เช่น นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ก็ได้มายินดีเมื่อคณะกรรมการเห็นชอบการแต่งตั้ง ขณะที่ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ก็ได้ประสานการทำงานมาโดยตลอด