Economics

เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมา-ฟิวชันผลิตไฟฟ้าอนาคต

กฟผ. จับมือสทน. พัฒนาเทคโนโลยีพลาสมา และฟิวชัน ร่วมมือออกแบบ และพัฒนาระบบประกอบของเครื่องโทคาแมค ให้เป็นเครื่องต้นแบบของประเทศ พร้อมพัฒนาบุคลากรการวิจัยด้านพลาสมา และฟิวชันไทยให้พร้อมสำหรับก้าวใหม่ของเทคโนโลยีขั้นสูง

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน ร่วมกับ ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.)

312

นายพัฒนา กล่าวว่า ที่ผ่านมา กฟผ.มุ่งพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน ด้วยการผสมผสานพลังงานที่หลากหลาย และให้ความสำคัญต่อการสนับสนุน และส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติกับหน่วยงานวิจัยภายนอก ในส่วนของเทคโนโลยีพลาสมา และฟิวชันถือเป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจอย่างสูงในหลากหลายประเทศ เป็นแหล่งพลังงานในอนาคต ที่มีความสะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กฟผ. เห็นถึงความจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้ทันต่อสถานการณ์พลังงานที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

S 4915207

สำหรับรายละเอียดของความร่วมมือครั้งนี้ มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี โดย กฟผ. และ สทน. จะร่วมมือกันหลายด้าน อาทิ ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชั่น เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม และยกระดับขีดความสามารถของบุคลากร ในสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน ขณะเดียวกันจะร่วมกันจัดอบรม และถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการด้านดังกล่าวแก่บุคลากรของทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้จะมีการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเฉพาะทาง รวมถึงร่วมมือกันออกแบบและพัฒนาระบบประกอบของเครื่องโทคาแมค ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการกักเก็บพลาสมาด้วยสนามแม่เหล็ก และใช้ในการศึกษาวิจัยเรื่องเทคโนโลยีฟิวชัน โดยผสานความเชี่ยวชาญด้านวิศกรรมไฟฟ้า และการออกแบบระบบไฟฟ้าของ กฟผ. กับความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของ สทน. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชันของประเทศต่อไป ทั้งนี้ในอนาคตอาจสามารถใช้เทคโนโลยีฟิวชัน ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาดเพื่อผลิตไฟฟ้าได้สำเร็จ

ด้าน ดร.พรเทพ กล่าวเสริมว่า กรอบความร่วมมือว่า กฟผ. และ สทน. จะร่วมกันวิจัยและพัฒนาศักยภาพของระบบจ่ายพลังงาน ระบบควบคุม และเก็บข้อมูล ระบบวัดคุณสมบัติของพลาสมาขั้นพื้นฐาน และระบบสุญญากาศของเครื่องโทคาแมค เพื่อเป็นเครื่องต้นแบบสำหรับประเทศไทย รวมถึงพัฒนาเครื่องกำเนิดพลาสมา เชิงเส้นต้นแบบที่มีอุณหภูมิ และความหนาแน่นของพลาสมาตามมาตรฐาน

โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์หลากหลายด้าน อาทิ การผลิตวัสดุทนความร้อนสูง เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม การใช้เครื่องพลาสมาทางการแพทย์ การเกษตร และการพัฒนาระบบควบคุมความเร็วสูง นอกจากนั้น ยังเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรภายในประเทศ มีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน ซึ่งเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญต่อการวิจัยด้านเทคโนโลยีขั้นสูง

Avatar photo