Economics

‘ทางคู่เฟส 2’ ยังไม่ออกวิ่ง! สภาพัฒน์เรียกตรวจแผนธุรกิจหวั่นไม่คุ้มค่า

“ทางคู่เฟส 2” ยังไม่ออกวิ่ง! “สภาพัฒน์” เรียกข้อมูลการตลาดเพิ่มเติม หวั่นลงทุน 7 เส้นทาง 2.7 แสนล้านบาทไม่คุ้มค่า ด้าน “ธนารักษ์” เตรียมเจรจาเอกชน ขอพื้นที่ 52 ไร่สร้างรถไฟ บ้านไผ่-นครพนม

fig 16 04 2019 11 45 54

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท) เปิดเผยว่า วานนี้ (18 เม.ย.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องจากกระทรวงคมนาคม, การรถไฟฯ และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เข้าหารือเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟสที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 273,382 ล้านบาท

เนื่องจากการรถไฟฯ ได้ส่งผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility study) ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้ว แต่สภาพัฒน์ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับแผนธุรกิจ แผนการตลาด และแผนการจัดหาล้อเลื่อน เพื่อรองรับรถไฟทางคู่เฟสที่ 2 เพิ่มเติม

การขอข้อมูลดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติ โดยการรถไฟฯ จะเร่งเสนอข้อมูลให้สภาพัฒน์พิจารณา จากนั้นสภาพัฒน์จะเร่งสรุปข้อมูลและทยอยเสนอโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

 

S 21790855

ขอข้อมูลสร้างความมั่นใจ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า สภาพัฒน์ได้ขอข้อมูลจากการรถไฟฯ เพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นใจว่าโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 จะเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากการลงทุนต้องใช้วงเงินจำนวนมาก จึงต้องพิจารณาแผนธุรกิจให้ชัดเจน โดยประเด็นที่สภาพัฒน์กังวล เช่น รถไม่มีเพียงพอต่อการให้บริการ เป็นต้น

สำหรับข้อมูลที่สภาพัฒน์ขอเพิ่มเป็นเรื่องเกี่ยวกับแผนธุรกิจ แผนการตลาด การจัดหาหัวรถจักร และแผนพัฒนาที่ดิน โดยมีการเสนอความคิดเห็นให้การรถไฟฯ จำหน่ายบัตรโดยสารพร้อมแพคเกจทัวร์เพื่อกระตุ้นการเดินทางด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวถูกบรรจุอยู่ในแผนฟื้นฟูการรถไฟฯ อยู่แล้ว เพียงแต่การรถไฟฯ ไม่ได้ เสนอให้สภาพัฒน์พิจารณา ดังนั้นการรถไฟฯ จึงต้องไปรวบรวมข้อมูลเหล่านี้และเสนอให้สภาพัฒน์พิจารณา โดยคาดว่าจะเสนอได้เร็วที่สุดภายในสัปดาห์หน้า

แหล่งข่าวกล่าวถึงการลงทุนรถไฟทางคู่เฟสที่ 1 จำนวน 7 เส้นทาง ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างว่า โครงการรถไฟทางคู่เฟสที่ 1 ได้ริเริ่มไว้ตั้งแต่ปี 2553 และใช้เวลา 8-9  ปีกว่าจะลงทุนครบทั้งหมด โดยมีการเตรียมแผนจัดหารถจักรรองรับไว้แล้ว เช่น การจัดหารถโดยสาร 115 คัน ซึ่งเปิดให้บริการไปแล้ว และการจัดซื้อหัวรถจักร 50 คัน ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างนำร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) ขึ้นรับฟังความคิดเห็นบนเว็บไซต์

 

รถไฟ3

เจรจาเอกชน เคลียร์พื้นที่ทับซ้อน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 57,965 ล้านบาท ยังไม่ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากติดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม จังหวัดนครพนม

เบื้องต้นพื้นที่ทับซ้อนมีขนาดประมาณ 33 ไร่ แต่ต้องขอขยายการใช้ประโยชน์ของพื้นที่เพิ่มเป็น 52 ไร่ เนื่องจากพื้นที่ที่เหลือในบริเวณดังกล่าวอีก 19 ไร่ เอกชนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ จึงควรนำมารวมไว้ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่แทน

โดยช่วงปลายเดือนนี้ กรมธนารักษ์จะไปเจรจากับเอกชน เพื่อขอนำที่ดิน 52 ไร่ไปใช้ประโยชน์ในโครงการรถไฟทางคู่และลดผลตอบแทนที่เอกชนต้องส่งให้กับรัฐลง ถ้าหากได้ข้อสรุปแล้วก็จะเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาต่อไป

Avatar photo