Economics

‘เอสแอนด์พี-ฟิทช์’ มอง ‘แผนการคลังระยะกลาง’ ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย แต่สร้างหนี้เพิ่ม

2 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ “เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์” และ “ฟิทช์” มอง “แผนการคลังระยะกลาง” ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย แต่จะทำให้รัฐมีหนี้สินเพิ่มขึ้น

เอสแอนด์พี และฟิทช์ เรทติ้งส์ แสดงความเห็นว่า ความพยายามของรัฐบาลไทย ที่จะทำให้สถานะการคลังเข้าสู่ภาวะสมดุล (Fiscal Consolidation) นั้น อาจเผชิญกับอุปสรรค หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง โดยมีการปรับงบขาดดุลปีงบประมาณ 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 4.42% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จากระดับ 3.56%

เศรษฐกิจไทย

เอสแอนด์พี และฟิทช์ ต่างมองว่า แม้แผนการคลังระยะปานกลางของไทย จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็จะทำให้รัฐบาลมีหนี้สินเพิ่มขึ้น

นายแอนดรูว์ วูด นักวิเคราะห์เอสแอนด์พีคาดการณ์ว่า ไทยอาจจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกตั้งแต่ปีหน้า จากการที่รัฐบาลปรับแผนการคลังระยะปานกลาง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอในขณะนี้

อย่างไรก็ดี คาดว่า ในระยะกลางนั้น แผนการคลังดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วขึ้น และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะยังคงฟื้นตัว ส่วนความต้องการในต่างประเทศจะเริ่มมีเสถียรภาพ ทั้งระยะเวลา ขนาด และการบังคับใช้โครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” จะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

ทางด้านนายจอร์จ ซู นักวิเคราะห์อาวุโสฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเมินในทำนองเดียวกันว่า ไทยจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อแผนการคลังระยะปานกลาง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความพยายามของรัฐบาล ในการทำให้สถานะการคลังเข้าสู่ภาวะสมดุล

เขาบอกด้วยว่า เมื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเริ่มมีผลบังคับใช้ ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการอุปโภคบริโภคของไทย โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3% ในปี 2567 และ 3.5% ในปี 2568 ซึ่งเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วขึ้น หลังกขยายตัวเพียง 1.9% ในปี 2566

อินโฟเควสท์ รายงานว่า การแสดงความเห็นของนักวิเคราะห์จากฟิทช์ และเอสแอนด์พีมีขึ้น หลังคณะรัฐมนตรีไทย มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลางเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (2 เม.ย.) โดยมีการปรับงบขาดดุลปีงบประมาณ 2568 เพิ่มขึ้น 157,200 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 713,000 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากก่อนหน้า ที่ได้จัดทำแผนการคลังไว้เมื่อปี 2566

โดยพบว่าเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ อีกทั้งยังเผชิญปัญหาจากทั้งปัจจัยต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมทั้งปัจจัยในประเทศ คือ  หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

เศรษฐกิจไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo