Economics

‘สุริยะ’ ย้ำ ‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ ปลอดภัย ปิด 7 สถานีจนกว่าจะแก้ไขเรียบร้อย พร้อมเจรจาขอขยายเวลานั่งฟรี

“สุริยะ” ย้ำ “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” ปลอดภัย ปิด 7 สถานีจนกว่าจะแก้ไขเรียบร้อย พร้อมเจรจาขอขยายเวลาทดลองนั่งฟรี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวชี้แจงกรณีโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนน และเกี่ยวสายไฟฟ้า บริเวณถนนติวานนท์ ระหว่างสถานีแคราย ถึง สถานีแยกปากเกร็ด ยืนยันระบบรถไฟฟ้ามีความปลอดภัยในการเดินทาง

โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ผู้แทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าว ในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ณ กระทรวงคมนาคม

รถไฟฟ้าสายสีชมพู

ยืนยันปลอดภัยปิด 7 สถานีจนกว่าจะแก้ไขเสร็จขอขยายเวลานั่งฟรี

กระทรวงคมนาคมขอยืนยันว่าระบบการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความปลอดภัย สำหรับอุบัติเหตุในส่วนงานก่อสร้างสาธารณูปโภค โดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่เกิดเหตุ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบทุกสถานี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิศวกร ได้เข้าทำการตรวจสอบอีกครั้ง ทำให้ช่วงเช้าของวันที่ 25 ธันวาคม 2566 สามารถเปิดให้บริการจำนวน 23 สถานี ตั้งแต่สถานีแจ้งวัฒนะ (PK08) – สถานีมีนบุรี (PK30) ตั้งแต่เวลา 06.00 – 24.00 น.

ในส่วนสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปจนถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) รวม 7 สถานี ยังคงปิดให้บริการอยู่ จนกว่าจะติดตั้งระบบรางจ่ายไฟให้แล้วเสร็จและตรวจสอบให้เรียบร้อยอีกครั้ง

สำหรับระยะเวลาที่เปิดทดลองใช้บริการฟรีที่เสียไปจากการปิดให้บริการ 7 สถานี ดังกล่าว จะมีการเจรจากับผู้ประกอบการให้ขยายระยะเวลาการเปิดทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูทั้งเส้นทางอีกครั้ง เพื่อประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนได้รับเป็นสำคัญ

รถไฟฟ้าสายสีชมพู

ตรวจความพร้อมก่อนให้บริการทุกเช้า สร้างความมั่นใจให้ผู้โดยสาร

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวว่า จากที่ได้ลงพื้นที่หาตรวจสาเหตุที่เกิดขึ้น และทำการประมวลผล ได้ข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากการรื้อถอนอุปกรณ์ด้านโครงสร้างจากการดึงเข็มพืดเหล็ก (sheet pile) ของโครงการระบบสาธารณูปโภคบริเวณด้านล่างของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ออกตามขั้นตอนก่อสร้างเมื่องานแล้วเสร็จ

อาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้ระดับของรางนำไฟฟ้าไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ส่งผลให้เมื่อมีตัวรับกระแสไฟฟ้า (Collector Shoe) ที่ติดกับตัวรถตรวจความพร้อมของเส้นทาง (รถไฟฟ้าหมายเลข PM40) ซึ่งกำลังเคลื่อนที่ไปกระแทก ส่งผลให้เกิดการขยับตัวของรางนำไฟฟ้า (Conductor Rail) ออกจากจุดยึดแล้วร่วงลงมาด้านล่างบนถนนบางส่วน (ประมาณ 300 เมตร) และส่วนใหญ่ติดค้างอยู่บนโครงสร้าง ระหว่างสถานีแคราย (PK02) ถึงสถานีกรมชลประทาน (PK05) ระยะทางรวมประมาณ 4.3 กม.

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีรอยไหม้จากประกายไฟที่เกิดจากการลัดวงจร (Short Circuit) 1 จุด บริเวณคานทางวิ่ง เหนือสถานที่ก่อสร้างโครงการระบบสาธารณูปโภคดังกล่าว (ใกล้ปากซอยติวานนท์ 34)

รถไฟฟ้าสายสีชมพู

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องนำมาเป็นบทเรียนที่สำคัญของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าทั้งงานก่อสร้างและระบบเดินรถ เมื่อมีการดำเนินการใด ๆ เช่น ก่อสร้าง รื้อถอน ต้องมีการแจ้งและส่งมอบพื้นที่ ควบคุมงานพร้อมกัน ทั้งผู้ประกอบการ และ ขร. รฟม. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

ที่ผ่านมาได้มีการหารือระหว่างหน่วยงานรัฐ และเอกชนมาโดยตลอด และปัจจุบันมีรถตรวจการพร้อมเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบความพร้อมเส้นทาง ก่อนให้บริการในทุก ๆ เช้าเวลา 04.00 น. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูตลอดการเดินทาง

ทั้งนี้จะต้องเพิ่มมาตรการตรวจการทำงาน และความเรียบร้อยสำหรับงานที่มีการดำเนินงานใกล้เส้นทางการวิ่งของรถไฟฟ้าให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่ปลอดภัยในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo