Economics

สสรท.-สรส. จี้นายกฯ-รัฐบาล ปรับ ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ เป็นธรรม-เท่ากันทั้งประเทศ

สสรท.-สรส. ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี-รัฐบาล เรียกร้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเป็นธรรม ต้องเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าด้วย 

วันนี้ (10 ธ.ค.) สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเรียกร้องว่า ต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากล และต้องเท่ากันทั้งประเทศ พร้อมกับมาตรการควบคุมราคาสินค้า

ค่าจ้างขั้นต่ำ

เนื้อหาในจดหมายได้หยิบยก ปฏิญญาสากลของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ขึ้นมาอ้างอิง รวมถึง นโยบายที่พรรคเพื่อไทย พูดถึงในช่วงหาเสียง พร้อมชี้ว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ที่เพิ่งประกาศออกมา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น ปรับสูงสุดมาอยู่ที่วันละ 370 บาท และอัตราต่ำสุดที่ 330 บาท ซึ่งปรับเพิ่มเพียง 2-16 บาทนั้น ไม่เพียงพอกับราคาสินค้าอุปโภค บริโภค น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ค่าขนส่ง และค่าเดินทาง ที่ปรับราคาขึ้นไปอย่างมากก่อนหน้านี้แล้ว

จดหมายบอกด้วยว่า รัฐบาลจะพัฒนาประเทศ ต้องใช้หลักสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติ ต้องทำให้จริง ทำให้ได้ อย่าเลือกทำบางเรื่อง ไม่ทำบางเรื่องเลือกปฏิบัติ สังคมไทย สังคมโลก จะประณามว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ดี

เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดไว้ในหลักสากลว่า ต้องสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ก็จะเป็นเครื่องชี้วัดว่า “รัฐบาลจริงจัง จริงใจ ในคำประกาศแค่ไหน” ค่าจ้างที่แถลงมานั้น ลำพังคนเดียวอยู่ได้หรือไม่ ครอบครัวอยู่ได้หรือไม่ แล้วเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร รัฐบาล กลุ่มทุนและคนที่เห็นต่าง…ลองตอบคำถามดู

ทำไมการปรับค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ

  • ผลเสียของการปรับค่าจ้างที่ต่างกัน

ประการแรก ประเทศไทยเริ่มประกาศเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรก เมื่อปี 2516 วันละ 12 บาท และมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละช่วงแต่ละปีเรื่อยมา จนมาถึงปี 2537 รัฐบาลในเวลานั้นประกาศให้ค่าจ้างลอยตัวแต่ละเขตแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดสามารถขึ้นค่าจ้างเองได้ โดยผ่านคณะอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด แล้วส่งมาให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางตัดสิน

เป็นที่ทราบกันว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันของคนงาน ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ดูจากอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง รัฐไทยยังไม่รับรอง ทั้ง ๆ ที่เป็นอนุสัญญาหลักของ ILO

ในต่างจังหวัดจึงแทบจะไม่มีองค์กรหรือบุคคลที่เป็นผู้แทนของคนงานอย่างแท้จริงร่วมพิจารณาการปรับค่าจ้าง จึงทำให้ค่าจ้างเหลื่อมล้ำกันมากบางพื้นที่รอยต่อจังหวัดต่อจังหวัดค่าจ้างต่างกัน แต่ต้องซื้อสินค้าในราคาเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในการครองชีพแตกต่างกัน

ที่สำคัญทำให้เกิดการอพยพแรงงานจากเขตค่าจ้างต่ำเข้าสู่เมืองใหญ่ที่มีค่าจ้างสูงทำให้เกิดเมืองแออัดทั้งสภาพแวดล้อม วิกฤติการจราจร การเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ เกิดปัญหาคนจนเมือง ในขณะที่ชนบทล่มสลาย ไม่มีคนหนุ่มสาว ภาคเกษตรไม่มีคนทำงาน ที่ดินถูกยึดครอง สภาพเช่นที่กล่าวมา ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข คุณภาพของประชากร เรื่องทรัพยากร ที่ดิน

ประการที่สอง กล่าวคือ วันนี้คนงานคนหนึ่งต้องทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด เหตุเพราะค่าจ้างต่ำในขณะที่สินค้าอุปโภค บริโภค ราคาสูงขึ้นอย่างมาก แม้จะอยู่ในต่างจังหวัดแต่วิถีชีวิตคนส่วนใหญ่ผูกพันกับร้านสะดวกซื้อซึ่งราคาสินค้าไม่แตกต่างกัน บางรายการแพงกว่าในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำไป แค่เรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่างจังหวัดก็แพงกว่ากรุงเทพฯ เสียอีก

แต่รัฐบาลก็ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะควบคุมราคาสินค้า หรือ กำหนดราคาสินค้าให้อยู่ในกรอบราคาเป็นเขตพื้นที่เหมือนกับค่าจ้าง ซึ่งจะมีข้ออ้างทุกครั้งว่าการปรับค่าจ้างแล้วราคาสินค้าจะขึ้นราคา แท้จริงแล้วในผลิตภัณฑ์สินค้าต่อชิ้นมีค่าจ้างแรงงานที่เป็นต้นทุนไม่ถึง 1%

ค่าจ้างขั้นต่ำ

  • ผลดีหากปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมตามหลักการสากลและเท่ากันทั้งประเทศ

ประการแรก จะทำให้แรงงานลดการอพยพคนงานจากเขตค่าจ้างต่ำ เข้าสู่เขตค่าจ้างสูง เพียงแต่รัฐบาลมีนโยบายกระจายงาน กระจายการลงทุนไปยังภูมิภาค บริหารจัดการเรื่องการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ให้คล่องตัว ดูเรื่องสภาพแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรมให้ดี ไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชน ทำให้คนงานสามารถทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้ และสามารถอยู่กับท้องถิ่นชนบท ออกจากโรงงานก็ยังสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมเสริมได้ ที่ดินก็ไม่ถูกยึดครอง ครอบครัวไม่แตกสลาย

ประการที่สอง เมื่อปรับค่าจ้างให้คนงานมีกำลังซื้อ สินค้าที่ผลิตออกมาก็สามารถขายได้ เกิดการจ้างงาน เมื่อคนงานมีรายได้จากค่าจ้างแรงงาน สถานประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้า รัฐบาลก็สามารถเก็บภาษีได้ทั้งบุคคล นิติบุคคล และการส่งออก รัฐก็มีรายได้มีเงินจัดสรรเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ อีกด้านหนึ่งเมื่อคนงานมีรายได้เพียงพอก็สามารถวางอนาคตตนเองและครอบครัวได้เช่น การศึกษาบุตร ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

การปรับค่าจ้างหากมองมิติเดียวแคบ ๆ แบบไร้วิสัยทัศน์ไม่ได้ เพราะจะทำให้การพัฒนาประเทศไร้ทิศทางไปด้วย คือ อุตสาหกรรม กลุ่มทุนเติบโตร่ำรวยอย่างอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนมากขึ้น ในขณะที่ชีวิตครอบครัวคนงานยากจนลง ก็จะทำให้ประเทศชาติก้าวไม่พ้นความเหลื่อมล้ำ ก้าวไม่พ้นเรื่องความยากจน ก้าวไม้พ้นเรื่องหนี้สิน ต่อให้กี่รัฐบาล ต่อให้กี่การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ก็ยากที่จะนำพาประเทศสู่ความก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ได้

ดังนั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 จะพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามกระทรวงแรงงานจะนำเสนอ จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศ และนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน จะต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

ค่าจ้างขั้นต่ำ
เศรษฐา ทวีสิน

ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงาน และครอบครัวได้ 3 คนตามหลักการของปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมแรงงานในทุกภาคส่วน รวมทั้งพนักงานและลูกจ้างภาครัฐซึ่งยังรับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

สสรท. และ สรส. ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าจ้างให้แตกต่างกันเป็นระดับท้องถิ่น ที่ได้ขยายไปเรื่อย ๆ จาก 4 ราคาในปี 2561 เป็น 9 ราคา ในปี 2565 และกำลังจะเป็น 17 ราคา ในปี 2567

รัฐบาลควรกำหนดให้แต่ละสถานประกอบการจัดทำ โดยให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้า และปรับค่าจ้างทุกปี ตามดัชนีค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ โครงสร้างค่าจ้างจะทำให้คนงานสามารถวางแผนอนาคตได้ ผู้ประกอบการก็สามารถวางแผนธุรกิจได้ พรรคการเมืองจะได้ไม่ต้องนำเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไปหาเสียง และจะได้เลิกถกเถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับเท่าใด พร้อม ๆ กับการปรับค่าจ้าง ขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo