นายกฯ เตรียมร่วมทดสอบเดินรถเสมือนจริง “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” ก่อนเปิดให้นั่งฟรี ตลอดสาย 30 สถานี ปลายเดือนพ.ย.
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจความพร้อม โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เพื่อเตรียมการต้อนรับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run)
โดยมี นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ร่วมลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ณ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
นายกฯ เตรียมทดสอบเดินรถเสมือนจริง–เปิดให้นั่งฟรีปลายเดือนนี้
โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และแก้ไขปัญหาจราจร ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อเตรียมการต้อนรับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ก่อนกำหนดเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี ตลอดเส้นทางครบทั้ง 30 สถานี ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2566
เพื่อเติมเต็มโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นได้อย่างไร้รอยต่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตและการเดินทางของประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ตามนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน
ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ได้นำคณะเข้าร่วมทดสอบ Trial Run เส้นทางจากสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปยังสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) โดยระบบการเดินรถเป็นไปอย่างราบรื่นตลอดเส้นทาง จากนั้น ได้นำคณะฯ เยี่ยมชมจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของโครงการฯ เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยในบริเวณ 3 สถานี ได้แก่
- สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เชื่อมต่อกับ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PP11) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) โดยเป็นการเชื่อมต่อประเภท Unpaid to Unpaid Area ระหว่างชั้นออกบัตรโดยสาร (Concourse Level) ของสองสถานี มีทางเดินเชื่อมต่อ (Skywalk) และทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ระยะทางประมาณ 346 เมตร
- สถานีหลักสี่ (PK14) ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เชื่อมต่อกับ สถานีหลักสี่ (RN06) ของรถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา (ช่วงบางซื่อ – รังสิต) ในการกำกับของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยเป็นการเชื่อมต่อประเภท Unpaid to Unpaid Area จากชั้นออกบัตรโดยสารของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ที่ระดับดิน ใช้สะพานลอยคนข้ามไปยังชั้นออกบัตรโดยสารของรถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา (ช่วงบางซื่อ – รังสิต) มีระยะทางเดินเชื่อมต่อประมาณ 180 เมตร
- สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เชื่อมต่อกับ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต เป็นการเชื่อมต่อประเภท Paid to Paid Area
เตรียมความพร้อมเปิดให้บริการ
รวมทั้งได้ติดตามความคืบหน้างานก่อสร้างทางเดินเชื่อมต่อ (Skywalk) ระหว่างสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) ชั้นออกบัตรโดยสาร ฝั่งทางออกที่ 3 กับ อาคารจอดรถของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ระยะทางเชื่อมต่อประมาณ 213 เมตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่มาติดต่อกับหน่วยงานภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ
และเน้นย้ำให้ รฟม. ควบคุมการดำเนินการที่ยังเหลืออยู่ตามมาตรการความปลอดภัยในอย่างเคร่งครัด สำหรับพื้นที่ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ให้เร่งดำเนินงานซ่อมแซมผิวจราจร เพื่อคืนสภาพจราจรแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนโดยเร็ว รวมทั้งเตรียมพร้อมระบบฟีดเดอร์ (feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางป้อนผู้โดยสารให้กับระบบราง
รฟม. ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ที่จะช่วยเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออก ฝั่งเหนือ และจังหวัดนนทบุรี
30 สถานี จุดเเชื่อมรถไฟ้า 4 สายหหลัก
โครงการฯ มีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการ 30 สถานี โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ และจุดจอดแล้วจร (Park and ride) บริเวณสถานีมีนบุรี พร้อมทั้งมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายหลัก ได้แก่
- รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีมีนบุรี
- รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต ที่สถานีหลักสี่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
- รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
- มีส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี แนวเส้นทางเชื่อมต่อที่สถานีเมืองทองธานี เข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 ไปสิ้นสุดที่บริเวณทะเลสาบในเมืองทองธานี ประกอบไปด้วย สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2568
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เร่งตรวจสอบระบบ ‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ 18 ธ.ค.นี้
- แจ้งปิดเบี่ยงจราจร ยกคาน ‘รถไฟฟ้า สายสีชมพู’ ถนนรามอินทรา ขาเข้า 18-28 ก.ย. เช็กรายละเอียด คลิก!
- รอ รฟม. คอนเฟิร์ม หลังผู้รับสัมปทานแจ้ง ‘sถไฟฟ้าสายสีชมพู’ พร้อมให้บริการ 18 ธ.ค.