แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ( Circular Economy ) กำลังเป็นเทรนด์ของภาคธุรกิจทั่วโลก เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ โดยมุ่งเน้นการรีไซเคิล และย่อยสลายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่เคยเป็นตัวการใหญ่สร้างขยะ ก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี เป็นอีกผู้ประกอบการที่เดินหน้าสู่เทรนด์นี้ พร้อมๆกับการก้าวเดินสู่โลกดิจิทัล
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี กล่าวว่า เราตั้งเป้าหมายการเติบโตภายใต้ Total Packaging Solutions Provider หรือ การเป็นคู่คิดด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย
- การขยายฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง
- เน้นนวัตกรรม และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้
- สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ( Circular Economy )
ในด้านการขยายกำลังผลิตนั้น จะมีทั้งลงทุนเอง และซื้อกิจการ ซึ่งในปีนี้มีแผนลงทุนรวม 7,000 ล้านบาท เงินลงทุนส่วนใหญ่ เป็นโครงการขยายกำลังผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ฟิลิปปินส์ อีก 2.3 แสนตันต่อปี รวม 4.3 แสนตัน วงเงินลงทุนรวม 5,000 ล้านบาท แล้วเสร็จไตรมาส 4 ปี 2563
ส่วนวงเงินที่เหลือเป็นการขยายกำลังผลิตที่เวียดนามอีก 20,000 ตันจากที่มีกำลังการผลิตอยู่ 500,000 ตัน ทั้งนี้เพื่อรองรับการเติบโต ส่วนการซื้อกิจการจะเน้นประเทศในอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีการเจรจาอยู่หลายราย ซึ่งจะทำให้กำลังผลิตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบัน 2.5 ล้านตัน เป็นกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ด้านการเดินหน้าซื้อกิจการนั้น นอกจากมีเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตแล้ว ยังรองรับแผนการเพิ่มสัดส่วนผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภท Primary Packaging หรือผลิตภัณฑ์ที่ห่อหุ้มตัวสินค้าด้วย เช่น กระป๋องแป้ง หรือ ถุงใส่น้ำยาต่างๆ และบรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มอาหาร ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ 15-20% รวมถึงบรรจุภัณฑ์ประเภท Folding carton และ Micro flute packaging ซึ่งมีสัดส่วน 5-10% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษลูกฟูกเป็นส่วนใหญ่กว่า 70-80 %
ส่วนนวัตกรรมได้มีการคิดค้น และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตั้งทีมดีไซน์เนอร์ถึง 30 คน เพื่อทำงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งบรรจุภัณฑ์ใหม่ จะเน้นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้ หรือ รีไซเคิลได้ เช่น หลอดกระดาษ ที่ได้รับการตอบรับอย่างดี ถุงบรรจุขนม บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารฟาสฟู้ดส์ ถุงใส่อาหารสุนัขที่ผลิตย่อยสลายง่าย เป็นต้น
“ลูกค้าบางส่วนเราต้องเข้าไปให้ความรู้ถึงเทรนด์แพคเกจจิ้งยุคใหม่ ขณะเดียวกันก็มีลูกค้ากลุ่มใหญ่ในต่างประเทศ เช่น ในยุโรปให้ความสำคัญกับแพคเกจจิ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาระยะหนึ่งแล้ว ปัจจุบันมีการก่อตั้งกลุ่ม CEFLEX หรือ A Circular Economy for Flexible Packaging เป็นองค์กรระดับโลก เพื่อเดินหน้า Circular Economy อย่างเต็มที่ และเอสซีจีก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว ”
นอกจากนี้ในอนาคต บริษัทจะเน้นพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดยุคใหม่ และสังคมสูงวัย ที่เน้นขนาดเล็ก สะดวก เปิดง่าย เป็นต้น
ขณะเดียวกัน จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการห่วงโซ่อย่างมีประสิทธิภาพ (Data Visibility) และการใช้เทคโนโลยี MARs (Mechanization, Automation, Robotics) ช่วยปรับกระบวนการผลิตในโรงงานให้เป็น Smart Factory และนำเทคโนโลยีไปใช้สนับสนุนการทำงานระหว่างเอสซีจีกับลูกค้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า และการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น โดย 2-3 ปีที่ผ่านมาลงทุนไปประมาณ 100-200 ล้านบาท
“เป้าหมายของเรา คือ Keep Momentum ดังนั้นเราจะรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีนี้ รายได้จะเติบโต 5-7% จากปีก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 87,000 ล้านบาท ตามตัวเลขจีดีพี รวมทั้งมาจากการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งปีที่ผ่านมาธุรกิจแพคเกจจิ้ง มีสัดส่วนรายได้ 18% ของรายได้ทั้งหมดของเอสซีจี “