Economics

‘เพื่อไทย’ เปิดความต่างโครงการ ‘พักหนี้เกษตรกร’ จากอดีตจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน!

“พรรคเพื่อไทย” เปิดจุดเด่นโครงการ “พักหนี้เกษตรกร” จากอดีตจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน มั่นใจช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพ

พรรคเพื่อไทย ระบุว่า จากนโยบายพรรค สู่การดำเนินงานของรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2566 โดยมีรายละเอียดมาตรการ ดังนี้

พักหนี้เกษตรกร

1. มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านราย ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0 – 3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs)) ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 โดยเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว

พักหนี้เกษตรกร
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

2. การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างบูรณาการ ธ.ก.ส. ร่วมกับส่วนงานราชการและหน่วยงานภายนอกดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงินซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว

พักหนี้เกษตรกร
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล

โดย นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับโครงการพักชำระหนี้ของรัฐบาลชุดนี้มีจุดเด่น หรือ ความแตกต่างจากอดีตที่ผ่านมาดังนี้

  1. คงชั้นหนี้เดิมเอาไว้ หมายความว่า เมื่อเกษตรกรเข้าโครงการพักชำระหนี้ เกษตรกรยังคงสถานะเป็นหนี้ดี ไม่กลายเป็นหนี้เสีย
  2. ธ.ก.ส.พยายามลดภาระหนี้ให้กับเกษตรกรในระหว่างที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ โดยเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย
  3. ในระหว่างที่เกษตรกรเข้าโครงการพักชำระหนี้ ธ.ก.ส.จะมีการพิจารณาสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้กับเกษตรกรรายละไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา หากเกษตรกรเข้าโครงการพักชำระหนี้จะไม่สามารถยื่นขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้ ตรงนี้คือจุดแตกต่าง ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าหากเกษตรกรมีความสามารถในการชำระหนี้ได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพได้ดีขึ้นตาม เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ก็สามารถมาขอสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมได้ โดย ธ.ก.ส.จะเป็นผู้พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้
  4. ในระหว่างที่เกษตรกรเข้าโครงการพักหนี้ ธ.ก.ส.จะมีมาตรการเพิ่มศักยภาพให้กับลูกค้าเกษตรกร
  5. โครงการพักหนี้ครั้งนี้จะครอบคลุมไปถึงเกษตรกรที่มีสถานะเป็นลูกหนี้ NPLs ด้วย ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะทำให้ NPLs ลดลง โดยการปรับโครงสร้างหนี้มีการชำระเงินต้น เพื่อที่จะทำให้ NPLs ของธนาคารลดลงด้วย

พักหนี้เกษตรกร

เพื่อให้การกำหนดมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs เป็นไปอย่างบูรณาการและ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน โดยคณะทำงานมีอำนาจและหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการในการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs

กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน รวมถึงมีโอกาสขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพ และการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ซึ่ง ธ.ก.ส. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภายนอกอย่างบูรณาการจะช่วยยกระดับการดำรงชีพของเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างความมั่นคงของเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK