Economics

สรุป 8 ปี ‘กฎหมายหลักประกันธุรกิจ’ ยื่นจด 8 แสนคำขอ ทรัพย์สินรวม 16 ล้านล้าน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สรุปผลหลังใช้กฎหมายหลักประกันธุรกิจปี 2558 ถึงปัจจุบันมีคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันเกือบ 8 แสนคำขอ ทรัพย์สินใช้เป็นหลักประกันมูลค่ารวม 16 ล้านล้าน

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่กฎหมายหลักประกันธุรกิจมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน (20 ก.ย.2566) มีสถาบันการเงินและนิติบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติสามารถเป็นผู้รับหลักประกัน ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับหลักประกันแล้วจำนวน 391 ราย

กฎหมายหลักประกันธุรกิจ

ทั้งนี้ แบ่งเป็น 1. สถาบันการเงิน 34 ราย 2. ธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันภัย 4 ราย 3. ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น 6 ราย 4. ทรัสต์ในนามทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน 1 ราย

5. บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม หรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 16 ราย 6. บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ 8 ราย 7. นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง 7 ราย

8. สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เฉพาะกรณีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 1 ราย 9. ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเฉพาะกรณีการให้สินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงิน 47 ราย 10. นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลิสซิ่ง 29 ราย และ 11. นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ (พิโกไฟแนนซ์) 238 ราย

สำหรับคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ มีจำนวนทั้งสิ้น 793,951 คำขอ ทรัพย์สินรวมที่ใช้เป็นหลักประกันจำนวน 16,160,211 ล้านบาท โดยสิทธิ์เรียกร้องเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด 80.047% มูลค่า 12,935,770 ล้านบาท

รองลงมา สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน สัตว์พาหนะ 19.93% มูลค่า 3,220,456 ล้านบาท ทรัพย์สินทางปัญญา 0.01% มูลค่า 1,991 ล้านบาท กิจการ 0.01% มูลค่า 1,457 ล้านบาท อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ 0.002% มูลค่า 398 ล้านบาท

ทศพล ทังสุบุตร
ทศพล ทังสุบุตร

ส่วนไม้ยืนต้นที่มีค่า ได้รับความสนใจจากสถาบันการเงินและธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ รับเป็นหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 146,942 ต้น มูลค่าสินเชื่อรวมกว่า 139 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ จำนวน 122,988 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 6,273,892 บาท โดยต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจส่วนใหญ่ ได้แก่ ต้นสัก ต้นขนุน ยางพารา ต้นยูคาลิปตัส ไม้สกุลทุเรียน ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลยาง เป็นต้น
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 954 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 4,645,060 บาท
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 23,000 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 128 ล้านบาท

สาเหตุหลักที่ทำให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เนื่องจากไม้ยืนต้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปีตามอัตราการเติบโต ประกอบกับปัจจุบันกระแสการรักษาธรรมชาติ การแก้ปัญหาโลกร้อน การลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นประเด็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนกำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ คุณสมบัติที่โดดเด่นของไม้ยืนต้นอีกประการหนึ่ง คือ เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนของโลก และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่มีการซื้อ-ขายในตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งเจ้าของไม้ยืนต้นสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อีกทางหนึ่ง นอกจากการใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอสินเชื่อ

คาดว่าในอนาคต เกษตรกรและประชาชนจะหันมาปลูกไม้ยืนต้นกันมากขึ้น เนื่องจากเห็นประโยชน์ที่มีอยู่นานัปการ และเป็นทรัพย์สินที่สามารถส่งต่อเป็นมรดกแก่ลูกหลานในอนาคตได้อีกด้วย

นายทศพล กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันธุรกิจ เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี และประชาชน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น โดยสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น

ต้นไม้

ทรัพย์สินที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันธุรกิจได้

1. กิจการ

2. สิทธิเรียกร้อง เช่น บัญชีเงินฝาก สิทธิการเช่า ลูกหนี้การค้า

3. สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง เครื่องจักร รถยนต์

4. อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร/หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม

5. ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์

6.ทรัพย์สินอื่น ซึ่งขณะนี้ คือ ไม้ยืนต้นที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo