Economics

7 เดือน ยอดใช้ ‘น้ำมันเชื้อเพลิง’ 156 ล้านลิตรต่อวัน ‘น้ำมันอากาศยาน’ เพิ่มขึ้น 76% เหตุคนเดินทางหลังโควิด

ยอดใช้ “น้ำมันเชื้อเพลิง” รอบ 7 เดือนของปี 66 เพิ่มขึ้น 3% “น้ำมันอากาศยาน” เพิ่มขึ้นกว่า 76% เหตุคนกลับมาเดินทางหลังโควิดคลี่คลาย

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดี กรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 156.14 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.1% โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 5.7% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 76.6% และการใช้ NGV เพิ่มขึ้น 2.0% ขณะที่ น้ำมันกลุ่มดีเซล น้ำมันเตาและ LPG มีการใช้ลดลง 3.3%  6.7% และ 0.2% ตามลำดับ

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.99 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.7% การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.13 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี20 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.93 ล้านลิตร/วัน

น้ำมันเชื้อเพลิง

น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 76.6% เดินทางหลังโควิดคลี่คลาย

ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ อี85 และเบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 6.87 ล้านลิตร/วัน 0.20 ล้านลิตร/วัน และ 0.48 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ทั้งนี้ ส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์ 95 ใกล้เคียงกับแก๊สโซฮอล์ 91 ประกอบกับแก๊สโซฮอล์ อี20 มีราคาที่ต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ อี85

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 71.03 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.3% เป็นการลดลงทุกชนิด สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ลดลงมาอยู่ 64.81 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาและน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 และน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 0.93 ล้านลิตร/วัน 0.16 ล้านลิตร/วัน และ 5.13 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ

น้ำมันเชื้อเพลิง
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช

ทั้งนี้ ภาครัฐยังคงมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซล โดยใช้มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่อไปจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 และใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร ภายหลังจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุดลง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลโลกมีความผันผวนจากความกังวลทางเศรษฐกิจ และวิกฤตด้านการเงินจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 13.41 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 76.6% เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลับมาเดินทางทางอากาศยานเพิ่มมากขึ้น ภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย

การใช้ LPG เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 18.13 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.2% โดยภาคปิโตรเคมีมีการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 8.17 ล้าน กก./วัน ภาคครัวเรือนลดลงมาอยู่ที่ 5.70 ล้าน กก./วัน และภาคอุตสาหกรรมลดลงมาอยู่ที่ 2.01 ล้าน กก./วัน ขณะที่การใช้ในภาคขนส่งอยู่ที่ 2.25 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้น 5.8%

การใช้ NGV เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.45 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.9% เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการตามปกติ ประกอบกับมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาพลังงาน ช่วยเหลือประชาชน โดยการคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2566 ถึง 15 มิถุนายน 2566

น้ำมันเชื้อเพลิง

นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงกว่า 1 ล้านบาเรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 3.5%

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,067,285 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.5% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 94,882 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 990,649 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 2.9% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 89,246 ล้านบาท/เดือน

สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 76,636 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 12.0% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 5,636 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 159,639 บาร์เรล/วัน ลดลง 7.2% คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 15,144 ล้านบาท/เดือน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo