Economics

ขึ้นฟรีรถไฟฟ้า ‘หัวลำโพง-บางแค’ ก.ค.นี้ ลุ้นสร้างต่อ ‘พุทธมณฑล’

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเปิดให้นั่งส่วนต่อขยาย “หัวลำโพง-บางแค” ฟรีเดือนกรกฎาคม เริ่มให้บริการจริงเดือน กันยายน และเปิด “เตาปูน-หลักสอง” ครบลูปเดือน มีนาคม 2563 ยืนยันเก็บค่าโดยสารสูงสุด 42 บาทเท่าเดิม ชี้ถ้าผู้โดยสารพุ่งพรวดถึง 1 ล้านคน BEM จะลงทุนต่อถึง “พุทธมณฑลสาย 4”

827F8316 6C04 4509 B1B2 14300F9A5CC3

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเดินทางมาตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วันนี้ (11 มี.ค.) ว่า รฟม. จะทดสอบการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) ช่วงหัวลำโพง-บางแค (หลักสอง) ในเดือนเมษายน 2562 หลังจากนั้นจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ โดยไม่เก็บค่าโดยสารในเดือนกรกกฎาคม 2562 และเปิดให้บริการจริง โดยเก็บโดยสารในเดือนกันยายน 2562

ด้านรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) ช่วงเตาปูน-ท่าพระ จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ โดยไม่เก็บค่าโดยสารในเดือนมกราคม 2563 และเปิดให้บริการจริง โดยเก็บค่าโดยสารในเดือนมีนาคม 2563

เมื่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเปิดให้บริการครบรอบวงกลมในเดือนมีนาคม 2563 ก็จะทำให้การเดินทางในกรุงเทพฯ สะดวกสบายมากขึ้น ผู้โดยสารจะกระจายตัว ช่วยลดความแออัดบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสยามและสถานีสุขุมวิท 

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของไทย เทียบได้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน (Yamanote Line) ที่วิ่งเป็นวงกลมในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่มีผู้โดยสารมากที่สุดในโลกจำนวน 4 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน จึงเชื่อว่าถ้ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเปิดให้บริการครบรอบ จะมีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 1 ล้านคน-เที่ยวต่อวันได้ไม่ยาก

ACE75A2E 90B8 4D11 9C37 EF5ABB3B7828

มี.ค. 63 ผู้โดยสารสายสีน้ำเงินแตะ 7 แสนคน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเงิน (ส่วนต่อขยาย) ช่วงหัวลำโพง-บางแคในเดือนกันยายน 2562 จะทำให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งเส้นทางมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 3.6 แสนคน-เที่ยวต่อวันในปัจจุบัน เป็น 6 แสนคน-เที่ยวต่อวัน และสายสีน้ำเงินจะมีรถไฟฟ้าใหม่ให้บริการเพิ่มขึ้น 16 ขบวน

เมื่อเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ก็คาดว่าจะทำให้จำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนคน-เที่ยวต่อวันและมีรถไฟฟ้าใหม่ให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 19 ขบวน

นอกจากนี้ คาดว่าจะช่วยให้รถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่ ที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1 แสนคน-เที่ยวต่อวัน เพราะผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะมีทางเลือกในการเดินทางไปฝั่งธนบุรี จากเดิมมีทางเลือกในการเข้าตัวเมืองกรุงเทพฯ เท่านั้น

รถไฟฟ้าใต้ดิน

ค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท เท่าเดิม

รฟม. จะกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งหมด รวมถึงส่วนต่อขยายในอัตราเดิมระหว่าง 16-42 บาทต่อเที่ยวเท่าเดิม โดยอัตราค่าโดยสารสูงสุดจะอยู่ที่สถานีที่ 12 ในอัตรา 42 บาทต่อเที่ยว เท่ากับว่าประชาชนจะได้นั่งรถไฟฟ้า 19 สถานีในส่วนต่อขยายฟรี

ลุ้นถึงล้านคน สร้างต่อไปพุทธมณฑล

นายภคพงศ์ กล่าวถึงการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง  5 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานีว่า ผู้ลงทุนคงต้องเป็นบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเดิมของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

BEM กำลังรอดูว่า การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินครบลูปเป็นครั้งแรก จะทำให้จำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งเส้นทางเพิ่มเป็น 8 แสนคน-เที่ยวต่อวัน ในปี 2563 และเพิ่มเป็น 1 ล้านคน-เที่ยวต่อวันภายใน 1-2 ปีตามเป้าหมายได้หรือไม่ ถ้าหากเป็นไปตามเป้าหมายก็จะเจรจาร่วมทุน (PPP) ช่วงบางแค-พุทธมณฑลต่อไป

“เนื่องจากส่วนต่อขยายช่วงหลักสอง-พุทธมณฑลสาย 4 มีลักษณะเป็นเส้นทางต่อ เพราะฉะนั้นเรียนว่า ผู้ที่ทำก็เป็นรายเดิม เท่าที่ทราบนโยบาย เอกชนอยากดูผลการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเต็มรูปแบบก่อน ถ้าผู้โดยสารเป็นไปตามคาด ปีแรกที่เปิดผู้โดยสารได้ 8 แสนคน-เที่ยวต่อวันและเพิ่มเป็น 1 ล้านคน-ต่อวัน ก็อาจจะเจรจากับผู้รับสัมปทานให้ลงทุนงานเดินรถและโยธา” นายภคพงศ์กล่าว

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

สีส้มรอลุ้นผ่าน ครม. เดือนนี้

ด้านโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร และการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงินรวม 1.43 แสนล้านบาทนั้น

เบื้องต้นคาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือนมีนาคม 2562 จากนั้น รฟม. จะตั้งคณะกรรมการ 35ฯ ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2560 (PPP) เพื่อร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม

ขั้นตอนต่อไป รฟม. จะเริ่มเปิดประมูลในเดือนมิถุนายน 2562 คาดว่าต้องใช้เวลา 7-8 เดือนจึงทราบผลและเสนอรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกให้ ครม. เห็นชอบได้

ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ส่วนต่อขยายด้านใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร กรอบวงเงินรวม 101,112 ล้านบาท ปัจจุบันยังไม่สามารถเปิดประมูลได้ เพราะรอความชัดเจนเรื่องการเข้าพื้นที่และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม)ระยะทาง 22.1 กิโลเมตร ยังต้องออกแบบรายละเอียดและศึกษากระบวนการพีพีพี คาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) พิจารณาได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

รถไฟฟ้าสายสีชมพู

ก่อสร้างชมพู-เหลืองล่าช้า 4%

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ปัจจุบันมีความคืบหน้าประมาณ 20% ล่าช้ากว่าแผน 4% 

ด้านการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี มีความคืบหน้า 25% ตามแผน แต่การก่อสร้างจุดวิกฤตบางแห่งมีปัญหา จึงต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้งานคืบหน้าตามเป้าหมาย

Avatar photo